โรคผมร่วงเป็นหย่อม

อะไรคือโรคผมร่วงเป็นหย่อม?

            โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการผมร่วงเป็นหย่อมอย่างเฉียบพลัน บางครั้งอาจเกิดขึ้นกับเส้นขนในบริเวณอื่นของร่างกายได้ เช่น คิ้ว หนวด โรคนี้เกิดจากการอักเสบภายใต้หนังศีรษะ การอักเสบนี้ไม่ได้ทำลายรูขุมขนอย่างถาวร ดังนั้นหลังโรคสงบลง ผมหรือเส้นขนจะสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ โรคนี้สามารถแบ่งตามตำแหน่งและความรุนแรง ได้ดังนี้

        Alopecia areata (AA) : มีผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงที่คิ้ว หนวดขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว

        Alopecia totalis (AT) : ผมที่ศีรษะร่วงทั้งหมด

        Alopecia universalis (AU) ผมที่ศีรษะ และขนที่ตัว เช่น ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ร่วงทั้งหมด

          โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มีผลกระทบต่อความสวยงามค่อนข้างมาก จึงอาจทำให้มีผลกระทบทางด้านจิตใจได้ โดยเฉพาะใน alopecia universalis ซึ่งมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด และมักตอบสนองต่อการรักษาต่างๆ น้อยที่สุด

 

ใครบ้างที่จะเป็นโรคนี้ ?

            เกิดได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิงเท่าๆ กัน อายุเฉลี่ยคือประมาณ 30 ปี แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถเกิดขึ้นที่ช่วงอายุใดก็ได้ อุบัติการณ์ที่เกิด เฉลี่ยคือ 1 ใน 1000 คน หรือ ประมาณ 2%

 

อะไรคือลักษณะทางคลินิกของโรคนี้ ?
          
ผู้ป่วยจะมีผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะกลม ขอบเขตชัดเจน อาจเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง โดยมากมักเกิดภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการใดๆ แต่อาจมีอาการคันหรือแสบนำมาก่อนในบริเวณที่จะเกิดโรค โรคนี้มักเกิดที่บริเวณศีรษะ แต่สามารถเกิดที่ตำแหน่งอื่นๆ ในร่างกายที่มีขนได้ (ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนรักแร้ หรือ ขนหัวหน่าว) อาจพบผมหักเป็นตอสั้นๆ ติดหนังศีรษะได้ในบริเวณขอบของรอยโรคที่กำลังจะขยาย เนื่องจากเส้นผมที่สร้างขึ้นใหม่เปราะและผิดปกติ โรคนี้อาจเกิดแบบเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ ผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย โดยอาการที่เล็บอาจเกิดนำมาก่อน เกิดพร้อมกัน หรือเกิดภายหลังจากภาวะผมร่วงได้ ความผิดปกติของเล็บที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การพบหลุมเล็กๆ บนผิวของแผ่นเล็บ

 

อะไรคือสาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อม ?
            โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทราบเพียงแต่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานผิดปกติมาทำลายรูขุมขน อย่างไรก็ตาม หากโรคสงบลงแล้วรูขุมขนยังสามารถกลับมาสร้างเส้นขนได้ใหม่ตามปกติ โรคที่อาจพบร่วมร่วมกับโรคผมร่วงหย่อมได้ คือ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ด่างขาว หรือกลุ่มโรคภูมิแพ้

         ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยผมร่วงหย่อม จะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ได้ ญาติสายตรงที่มีบุคคลในบ้านเป็นโรคนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้มากขึ้นเล็กน้อย
 

 โรคนี้วินิจฉัยได้อย่างไร ?
          
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคผมร่วงหย่อมได้ โดยการตรวจลักษณะของผมร่วง ผู้ป่วยบางรายที่มีลักษณะของรอยโรคไม่ชัดเจน หรือ สงสัยภาวะอื่นร่วมด้วย แพทย์จะขอตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรค เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคได้

วันที่: 
Fri 1 April 2022
QR Code for https://www.stkc.go.th/info/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9C%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1
แหล่งที่มา: 
https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1301
Hits 892 ครั้ง