นักวิจัยจุฬาฯ และไบโอเทค-สวทช. คว้ารางวัลชนะเลิศและยอดเยี่ยม นิวตัน ประเทศไทย ประจำปี 60 จากกองทุนความร่วมมือนิวตัน ยูเค-ไทย

ข่าวประจำวันที่: 
Wed 22 November 2017

นักวิจัยจุฬาฯ และไบโอเทค-สวทช. คว้ารางวัลชนะเลิศและยอดเยี่ยม นิวตัน ประเทศไทย ประจำปี 60 จากกองทุนความร่วมมือนิวตัน ยูเค-ไทย

        พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัล Newton Prize สำหรับประเทศไทย ประจำปี 2560 แก่คณะนักวิจัยไทยที่ดำเนินโครงการที่ได้รับหรือเคยได้รับทุนนิวตัน ซึ่งดำเนินงานยอดเยี่ยมในด้านการวิจัยและ/หรือนวัตกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสวัสดิภาพสังคมของประเทศที่ร่วมทุน ผลปรากฎว่า ศ.นพ. วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ จากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศ Newton Prize

 

 

        ขณะที่ ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณ์ นักวิจัยจากไบโอเทค สวทช. คว้ารางวัลยอดเยี่ยม Chairman’s Award โดยมี มร.มาร์ค ฟิลด์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ รับผิดชอบกิจการเอเชียแปซิฟิก มร.ไบรอัน เดวิดสัน อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึง ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. ตลอดจนคณะนักวิจัยเข้าร่วมในงาน

 

        มร.ไบรอัน เดวิดสัน อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า “รางวัลนิวตัน (Newton Prize) คือ รางวัลรายปีมูลค่า 1 ล้านปอนด์ (หรือ 43 ล้านบาท) โดยมอบให้แก่โครงการที่ได้รับหรือเคยได้รับทุนนิวตัน ซึ่งดำเนินงานยอดเยี่ยมในด้านการวิจัยและ/หรือนวัตกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสวัสดิภาพสังคมของประเทศที่ร่วมทุน เพื่อจูงใจให้นักวิจัยในประเทศที่ร่วมทุนกองทุนนิวตัน เข้าร่วมเป็นทีมวิจัยกับนักวิจัยในสหราชอาณาจักรสำหรับเข้าขอรับทุนนิวตัน และทำงานด้านการวิจัยและ/หรือนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสำคัญที่ประเทศร่วมทุนของกองทุนนิวตันกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งรางวัลนิวตันในแต่ละปี (ตั้งแต่ปี 2560 - 2564) จะมอบให้แก่นักวิจัยในแต่ละประเทศ และหัวข้อการวิจัยและนวัตกรรมที่แตกต่างกัน โดยโครงการวิจัยและ/หรือนวัตกรรมที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับรางวัลมูลค่าต่อโครงการเป็นจำนวนสูงมากถึง 200,000 ปอนด์ (หรือ 8.6 ล้านบาท)”

 

 

        “สำหรับรางวัลชนะเลิศ Newton Prize 2017 ได้แก่ ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานเรื่อง “การปรับปรุงการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมที่หาได้ยากในเด็ก (Molecular Pathology of Rare Genetic Diseases in Children)” ที่ดำเนินงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยสหราชอาณาจักร Prof. Philip Beales, UCL Great Ormond Street Institute of Child Health ขณะที่รางวัลยอดเยี่ยม Chairman’s Award ได้แก่ ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ หัวหน้าห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกุ้งและเชื้อก่อโรค หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับผลงานเรื่อง “เครือข่ายวิจัยเพื่อสุขภาพกุ้ง (International Networks for Shrimp Health: INSH)” ที่ดำเนินงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยสหราชอาณาจักร Prof. Grant Stentiford, Centre for Environment, Fisheries and Aquaculture Science”

 

        โดย ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ นักวิจัยผู้รับรางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า “เด็กไทยประมาณร้อยละ 8% กำลังได้รับผลกระทบจากโรคทางพันธุกรรมที่หาได้ยาก ซึ่งหลายโรคใช้เวลาวินิจฉัยยาวนานถึง 7 ปีกว่าจะทราบว่าป่วยด้วยโรคใด ดังนั้น เมื่อไม่ทราบว่าเด็กป่วยด้วยโรคใดจึงรักษาแบบเฉพาะเจาะจงได้ยาก ซึ่งนับเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่ใหญ่มาก ดังนั้น คณะวิจัยจึงได้ร่วมกับเครือข่ายกองทุนนิวตัน โดยร่วมกับนักวิจัยสหราชอาณาจักร พัฒนาปรับปรุงการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมที่หาได้ยากในเด็กให้รวดเร็วและทันเวลามากที่สุด ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ และเทคโนโลยี ทำให้ลดเวลาการวินิจฉัยจาก 7 ปีเหลือเพียงประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น ประโยชน์ที่ได้คือ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องรวดเร็วขึ้น และรักษาโรคได้ตรงจุด รวมถึงมีประโยชน์สำหรับครอบครัวที่ต้องการตั้งครรถ์เพื่อมีลูกคนถัดไปด้วย”

 

 

        ด้าน ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยผู้รับรางวัลยอดเยี่ยม กล่าวว่า “ด้วยตระหนักถึงการสูญเสียจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง และเรียนรู้ว่าการแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้งและสุขภาพกุ้งจะประสบผลสำเร็จได้อย่างทันท่วงที ต้องมีการบูรณาการให้เกิดการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงได้ริเริ่มและนำเสนอการจัดตั้ง “เครือข่ายวิจัยเพื่อสุขภาพกุ้ง” หรือเครือข่าย INSH (International Networks for Shrimp Health) เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างห้องปฏิบัติการวิจัยด้านโรคกุ้งและสุขภาพกุ้งที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ

 

 

        รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมกัน กำหนดแนวทางการแก้ไขและการเฝ้าระวังโรคระบาดในกุ้งอย่างบูรณาการ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของโรคอุบัติใหม่ต่างๆ รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพกุ้งที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที โดยเครือข่าย INSH จะเน้นทำงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่เข้มแข็ง นำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในกุ้ง ใช้ในการเฝ้าระวังโรค และลดการสูญเสียเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพกุ้งและโรคระบาดในกุ้ง ซึ่งเครือข่าย INSH จะเป็นศูนย์กลางให้ความรู้ และแก้ปัญหาเรื่องโรคกุ้งและสุขภาพกุ้ง การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงและเหมาะสมเข้ามาช่วยในการตรวจและรักษาสุขภาพกุ้ง เพื่อการนำไปใช้ในงานวิจัยและนำไปใช้ในฟาร์ม รวมถึงสร้างเว็บไซต์เครือข่ายที่เป็นศูนย์กลางทำงานติดต่อสื่อสารร่วมกัน และเผยแพร่สู่สาธารณะ”

 

 

นอกจากนี้ รางวัล Newston Prize สำหรับประเทศไทย ประจำปี 2560 ยังมีการมอบรางวัลรองชนะเลิศให้แก่คณะวิจัยไทยอีกจำนวน 3 รางวัล ได้แก่  
1) ผลงานการศึกษากระบวนการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคไข้รากสาดไรอ่อนในคน: งานวิจัยพื้นฐานด้วยเทคนิคเชิงระบบสู่การค้นหาวิธีรักษาโรคอย่างแม่นยำ (Bacterial Pathogenesis: Dissecting the Early Stages of Cellular Invasion by the Obligate Intracellular Bacterium Orientia Tsutsugamushi) โดยหัวหน้าคณะทำงานประกอบด้วย Dr. Jeanne Salje & Prof. Nicholas Day, Centre for Tropical Medicine and Global Health, University of Oxford และ ดร.สมพลนาท สัมปัตตะวนิช ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 
2) ผลงานพันธุ์ข้าวที่ทนกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Ready Rice: Optimising Transpiration to Protect Rice Yields Under Abiotic Stresses) โดยหัวหน้าคณะทำงานประกอบด้วย Prof. Julie Gray, Department of Molecular Biology and Biotechnology, University of Sheffield และ รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และผู้เชี่ยวชาญ หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืช ห้องปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. 
3) ผลงาน การแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อด้วยเทคโนโลยีจีโนม (Genomic Epidemiology in Infectious Diseases - Pathogen Genomics Capacity Building) โดยหัวหน้าคณะทำงานประกอบด้วย Prof. Taane Clark, London School of Hygiene & Tropical Medicine และ ผศ.ดร.ประพัฒน์ สุริยผล หน่วยชีวสารสนเทศและจัดการข้อมูลวิจัย คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

        ทั้งนี้ กองทุนความร่วมมือนิวตันระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม (UK- Thailand Research and Innovation Partnership Fund) ได้ตกลงขยายระยะเวลาการดำเนินงานและเพิ่มจำนวนเงินทุน โดยคาดว่า จะร่วมลงทุนในกองทุนความร่วมมือนิวตันเป็นมูลค่าประมาณ 46 ล้านปอนด์ (หรือ 1,978 ล้านบาท) ในระหว่างปี 2557 - 2564 ซึ่งในปีแรกของการบริหารจัดการกองทุนฯ เป็นการดำเนินการร่วมระหว่างหน่วยงานไทย 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานอังกฤษ 2 หน่วยงาน คือ British Council (BC) และ Royal Academy of Engineering (RAEng) โดยปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) เป็นปีที่ 4 ของการดำเนินงานกองทุนความร่วมมือนิวตัน มีจำนวนหน่วยงานร่วมบริหารจัดการกองทุนฯ เพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 20 หน่วยงาน จากประเทศไทย 10 หน่วยงาน และประเทศอังกฤษ 10 หน่วยงาน

 

URL: 
https://www.nstda.or.th/th/news/11639-20171122-newton-prize
แหล่งที่มา: 
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พว.)