นาฬิกาอะตอมแห่งประเทศไทย นวัตกรรมขับเคลื่อนงานวิจัย

ข่าวประจำวันที่: 
Wed 9 March 2022

   นาฬิกาอะตอมแห่งประเทศไทย นวัตกรรมขับเคลื่อนงานวิจัย เรื่องของ “เวลา” ที่เรารู้จักหรือใช้กันอยู่ทุกวันจนดูเหมือนเป็นเรื่องใกล้ตัวนั้น ในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญมาก เพราะเวลาไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ใช้บอกเวลาในชีวิตประจำวันหรือการทำกิจกรรมต่างๆ แต่ยังมีความสำคัญในด้านอื่นๆ เช่น การสื่อสาร 5G Internet of Things : IoT การทำงานของระบบ Radar หรือระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม เป็นต้น ดังนั้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเวลาและความถี่ของประเทศ จึงมีความสำคัญมากต่อการสร้างศักยภาพให้แก่ระบบดิจิทัล

   สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลการพัฒนามาตรฐานการวัดของประเทศ ให้เกิดความเชื่อมั่นในความถูกต้องของเครื่องมือวัดทั้งหมดในประเทศที่ใช้ในภาคการผลิตและบริการที่มีผลกระทบทั้งในภาคเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้องปฏิบัติการเวลาและความถี่ ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า มีหน้าที่หลักในการจัดหา ดูแล และการถ่ายทอดเวลาและความถี่มาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันนิยามของหน่วยวินาที ได้มาจากระดับชั้นพลังงานที่สถานะพื้นของธาตุซีเซียมที่มีความถี่ 9.192631770 GHz ซึ่งถูกกำหนดเป็นนิยามของหน่วยวินาที แต่ในอนาคตอันใกล้หน่วยงานที่กำหนดหน่วยวัดระหว่างประเทศ จะมีการพิจารณาถึงนิยามใหม่ของวินาที โดยใช้นาฬิกาอะตอมเชิงแสง (Optical Clock) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดของนาฬิกาในปัจจุบัน มีความเที่ยงตรงแม่นยำกว่านาฬิกาอะตอมที่ใช้กันทั่วโลก (Cesium Clock) ประมาณ 1,000 ถึง 10,000 เท่า

   ในโอกาสนี้ ดร. ปิยพัฒน์ พูลทอง นักมาตรวิทยาชำนาญการ และดร.รัฐกร แก้วอ่วม นักวิจัยหลังปริญญาเอก ห้องปฏิบัติการเวลาและความถี่ ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า ได้รับเกียรติในฐานะนักวิจัย พร้อมทั้ง ดร.ธเนศ พฤทธิวรสิน Quantum Technology Foundation (Thailand) ถูกเชิญให้มาร่วมพูดคุยถึง โครงการนาฬิกาอะตอมเชิงแสงของไอออนธาตุอิธเธอเบียม (Ytterbium ion optical clock) ที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเวลาและความถี่ของประเทศไทย ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อการวัดทางมิติและการวัดทางไฟฟ้าให้มีความแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการทำวิจัยด้านเทคโนโลยีควอนตัม ไม่ว่าจะเป็นมาตรวิทยาและการตรวจวัดเชิงควอนตัม (Quantum Metrology and Sensing) หรือควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) ในรายการ Podcast รายการ Sci เข้าหู EP31 จากนิตยสารสาระวิทย์ สวทช. โดยมีผู้ดำเนินรายการ ดร.นรมน อินทรานนท์ ศูนย์สนับสนุนและให้บริการประเมินจัดอันดับเทคโนโลยีไทย สวทช.

   สถาบันจึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจทุกท่านมาร่วมรับฟังข้อมูลความรู้ดีๆ ที่จะช่วยเปิดโลกเทคโนโลยีของท่านให้กว้างขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเราให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งการสื่อสารในยุค 5G อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้ ไปสู่ความเชื่อมโยงในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจของประเทศไทยเราแบบฉับพลัน จากความแม่นยำที่เพิ่มขึ้นของนาฬิกาอะตอมแห่งอนาคตอันใกล้นี้เลยทีเดียว

URL: 
https://www.nimt.or.th/main/
แหล่งที่มา: 
https://www.nimt.or.th/main/?p=40183