มว. เดินหน้าจัดอบรมเฟส 2 หนุนเมืองนวัตกรรมอาหารสร้างจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาหารไทยให้มีศักยภาพ

ข่าวประจำวันที่: 
Wed 27 December 2017

มว. เดินหน้าจัดอบรมเฟส 2 หนุนเมืองนวัตกรรมอาหารสร้างจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาหารไทยให้มีศักยภาพ


IMG 3141


          การที่จะสร้างจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เติบโตอย่างมีศักยภาพต้องอาศัยการถักทอเครือข่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) ให้เป็นปึกแผ่นและเข้มแข็ง เพื่อเป็นการสร้างสมรรถนะให้แก่กระบวนการทางคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ขับเคลื่อนภารกิจของเมืองนวัตกรรมอาหารให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้


IMG 3268  IMG 3115


          สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) หนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ด้านการวัด ได้ริเริ่มแนวคิดในการใช้องค์ความรู้ด้านมาตรวิทยาเข้าช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในด้านการลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น การใช้งานและดูแลรักษาเครื่องมือได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อเป็นการลดต้นทุนด้านการผลิต โดยฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง ของ มว.ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาก่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยได้มีการ จัดตั้งโครงการฝึกอบรม “การจัดการและการทวนสอบเทอร์โมมิเตอร์ในอุตสาหกรรมอาหาร” ภายใต้โครงการบูรณาการเมืองนวัตกรรมอาหาร ซึ่งทาง มว.ได้กระแสตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้ประกอบการอาหารแช่แข็งที่เข้ารับการฝึกอบรมในครั้งที่ผ่านมา ที่จังหวัดสมุทรสาคร จึงทำให้เกิดแนวคิดในการขับเคลื่อนกิจกรรมการอบรมให้เดินหน้าต่อไปยังกลุ่มผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆเพื่อเป็นการกระจายองค์ความรู้ได้อย่างครอบคลุม


          ล่าสุด มว.ได้จัดฝึกอบรม “การจัดการและการทวนสอบเทอร์โมมิเตอร์ในอุตสาหกรรมอาหาร” ภายใต้โครงการบูรณาการเมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ ระยอง ซึ่งในครั้งนี้มีทั้งกลุ่มผู้ประกอบการทางด้านอาหารและน้ำดื่ม รวมถึงผู้ประกอบการด้านห้องปฏิบัติการทดสอบเข้าร่วมกว่า 120 บริษัท โดยมีนักมาตรวิทยาจากฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง มว. มาเป็นวิทยากร อาทิ นายพิเชษ วงษ์นุช ห้องปฏิบัติการเทอร์โมมิเตอร์ชนิดแท่งแก้ว กลุ่มงานมาตรฐานปฐมภูมิอุณหภูมิ ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง ที่มาให้ความรู้เรื่องการใช้ และดูแลเก็บรักษาเครื่องมือได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และดร.อ้อยใจ อ่องหร่าย นักมาตรวิทยาชำนาญการ ห้องปฏิบัติการ SPRT และ เทอร์โมคอบเปิลที่มาให้ความรู้ในเรื่องของ เครื่องมือวัดอุณหภูมิในแบบต่างๆ การอ่านค่าผิดพลาด การอ่านค่าของเหลวในแท่งแก้ว การติดตั้งเทอร์โมมิเตอร์และการใช้งานอย่างถูกวิธี พร้อมทั้ง ชี้ให้เห็นถึงปัญหา ตลอดจนหาแนวทางแก้ไขเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตในด้านการใช้พลังงาน


IMG 3133  IMG 3074


          เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตอาหาร มีเครื่องมือวัดจำนวนมากที่ใช้ในกระบวนการต่างๆ  ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีเครื่องมือวัดหลายพันตัวและเสียค่าสอบเทียบหลายล้านบาทต่อปี ดังนั้นการฝึกอบรมให้ความรู้กับบุคลากรเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถใช้เครื่องมือได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนช่วยวิเคราะห์หาสาเหตุของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนผลิต เช่น ของเสียในกระบวนการนึ่ง กระบวนการฆ่าเชื้อต่างๆ  พร้อมทั้งช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่เริ่มต้นให้สามารถสอบเทียบเครื่องมือวัดเองได้ เพื่อประหยัดต้นทุนการส่งเครื่องมือสอบเทียบภายนอก และเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการเครื่องมือวัดในกระบวนการผลิต ที่สามารถช่วยผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่าย


          การนำเทคนิคมาตรวิทยามาถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารผ่านการฝึกอบรม “การจัดการและการทวนสอบเทอร์โมมิเตอร์ในอุตสาหกรรมอาหาร” ภายใต้โครงการบูรณาการเมืองนวัตกรรมอาหารนี้ จะช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแช่แข็ง อาหารพร้อมรับประทาน มีระบบในการจัดการเครื่องมือวัดอุณหภูมิ เพิ่มประสิทธิภาพการวัดอุณหภูมิในกระบวนการผลิต กระบวนการจัดเก็บ กระบวนการขนส่ง รวมถึงการพัฒนาวิธีการตรวจสอบ ทวนสอบเครื่องมือวัดอุณหภูมิ ให้สอดคล้องตามที่มาตรฐานกำหนด และเพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปแช่แข็ง อาหารพร้อมรับประทาน มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น  และที่สำคัญยังช่วยรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์  การวัด และควบคุมอุณหภูมิในห้องแช่แข็งอย่างถูกต้อง แม่นยำ เนื่องจากการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป จะเป็นการรักษาคุณภาพอาหารและทำให้ไม่สูญเสียพลังงานเกินความจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมพัฒนาการวัดในกระบวนการแช่แข็งกับสถาบันมาตรวิทยา  สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน กว่า 5 %  หรือประหยัดได้อย่างน้อยหลายแสนบาทต่อปี


IMG 3044  IMG 3285


          การใช้เทคโนโลยีทางมาตรวิทยาเพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารนี้จะช่วยทำให้เกิดผลิตภาพในสายการผลิต เสริมสร้างผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการควบคุมคุณภาพงาน เพิ่มขีดความสามารถทางการวัดได้อย่างถูกต้องแม่นยำให้ผู้ประกอบการ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถสอบเทียบได้เองและดูแลรักษาเครื่องมือวัดได้อย่างถูกต้อง สร้างผลิตภาพและผลิตผลที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน และเป็นการช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานไฟฟ้า อีกทั้งช่วย ลดเวลาในการตรวจสอบ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น  ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนสามารถยกระดับคุณภาพสินค้าให้เกิดความน่าเชื่อถือในตลาดโลก โดยผ่านกลไกการวัดที่แม่นยำ และมาตรฐานที่อ้างอิงได้


URL: 
http://www.most.go.th/main/th/news/380-activity-news/6995-foodinnopolis271260
แหล่งที่มา: 
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สป.วท.)