ยานอวกาศจูโนปฏิวัติความเข้าใจเรื่องดาวพฤหัสฯ

ข่าวประจำวันที่: 
Mon 12 March 2018

ยานอวกาศจูโนปฏิวัติความเข้าใจเรื่องดาวพฤหัสฯ


          ยานอวกาศจูโนขององค์การนาซาที่เดินทางไปสำรวจดาวพฤหัสฯ ล่าสุดได้เก็บข้อมูลของดาวพฤหัสฯมากมายมาให้นักดาราศาสตร์ได้วิเคราะห์ จนเกิดงานวิจัย 4 เรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารวิชาการอันดับต้นๆของโลก เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 2018


          ภาพรวมของงานวิจัยทั้งหมดคือ ยานอวกาศจูโนค้นพบว่าแก่นของดาวพฤหัสฯนั้นประกอบไปด้วยธาตุหนักที่ไม่ได้มีขอบเขตที่ชัดเจน แต่ค่อยๆกระจายตัวออกมาปะปนกับไฮโดรเจนและฮีเลียมซึ่งเป็นองค์ประกอบภายนอกของดาวพฤหัสฯ การค้นพบพายุไซโคลนที่ขั้วซึ่งมีรูปแบบน่าอัศจรรย์ ความโน้มถ่วงของดาวพฤหัสฯอย่างละเอียด รวมทั้งการไหลของโครงสร้างภายในดาวพฤหัสฯ


          งานวิจัยแรกเป็นเรื่องพายุไซโคลน



พายุที่ขั้วเหนือ


          พายุไซโคลนที่ค้นพบในครั้งนี้ปรากฏที่ขั้วเหนือและใต้ของดาวพฤหัสฯ โดยพายุไซโคลนที่ขั้วเหนือมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4,000 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยพายุเล็กๆอีก 8 ลูก! โดยพายุทั้ง 8 ลูกอาจแบ่งได้สองรูปแบบคือ พวกที่อยู่ห่างจากพายุตรงกลางซึ่งจะมีแขนเกลียว ส่วนอีกพวกที่อยู่ใกล้พายุตรงกลางซึ่งมีความปั่นป่วนกว่า


          ส่วนพายุไซโคลนที่ขั้วใต้ดาวพฤหัสฯนั้นใหญ่กว่าขั้วเหนือเล็กน้อย และถูกล้อมรอบด้วยพายุเล็กๆ 5 ลูก โดยแต่ละลูกใหญ่พอๆกับรัศมีของโลกเรา



ขั้วใต้ของดาวพฤหัสฯ


          พายุทั้งหลายเหล่านี้หมุนรอบตัวเองครบรอบทุกๆ 27-60 ชั่วโมง ที่น่าแปลกคือ ตลอดเวลา 7 เดือน ที่ยานอวกาศจูโนเก็บข้อมูลพายุเหล่านี้แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเลยซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ว่าเหตุใดพวกมันจึงมีเสถียรภาพถึงขนาดนั้นและทำไมพวกมันถึงไม่ไหลมารวมกัน พายุเหล่านี้เกิดขึ้นที่ขั้วนานแล้วหรือเกิดขึ้นที่อื่นแล้วไหลมารวมกัน


          งานวิจัยอีกสามเรื่องกล่าวโดยรวมได้ว่าเป็นการค้นพบว่าความโน้มถ่วงของดาวพฤหัสฯที่ดึงดูดยานอวกาศจูโนไม่ได้มีความสมมาตรกันทั่วทั้งดวง โดยซีกเหนือกับซีกใต้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ความโน้มถ่วงที่แตกต่างนี้เกิดจากกระแสลมความเร็วสูงในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดผลต่างความดันในชั้นบรรยากาศนำมาซึ่งความหนาแน่นที่แตกต่างกันของบรรยากาศ ความหนาแน่นที่แตกต่างกันนี้เองเป็นเหตุที่ทำให้ความโน้มถ่วงมีความไม่สมมาตร


          ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์รู้ดีว่า แต่ละส่วนของดาวพฤหัสฯหมุนด้วยอัตราที่ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่ยังไม่มีใครรู้คือ อัตราการหมุนที่แตกต่างนี้เกิดขึ้นที่ระดับความลึกเท่าใด


          ผลจากข้อมูลของยานจูโนพบว่ากระแสลมพัดจนถึงระดับความลึกราว 3,000 กิโลเมตร ซึ่งลึกกว่าที่นักดาราศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้มาก ที่ระดับความลึกมากกว่านี้ สสารจะเป็นของไหลแต่หมุนด้วยอัตราเดียวกันเหมือนเป็นของแข็ง! นักวิจัยเชื่อว่าที่ระดับความลึกเกินกว่า 3,000 กิโลเมตรนั้นมีความดันสูงจนไฮโดรเจนถูกบีบอัดจนแตกตัวเป็นไอออนทำให้เกิดแรงแม่เหล็กไฟฟ้าที่ดึงไฮโดรเจนรอบๆให้ไปด้วยกันเหมือนของแข็ง


URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3521-juno-on-jupiter
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่ชาติ (สดร.)