สดร. เปิดมิติใหม่มุ่งใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์ยาก พัฒนาเทคโลยี พัฒนาคน เพื่อการพึ่งพาตนเอง

ข่าวประจำวันที่: 
Wed 19 July 2017

สดร. เปิดมิติใหม่มุ่งใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์ยาก พัฒนาเทคโลยี พัฒนาคน เพื่อการพึ่งพาตนเอง

          กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สดร.) จัดงาน NARIT : The Next Step ก้าวต่อไปของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเวทีผู้บริหารพบสื่อมวลชน เผยกลยุทธ์ก้าวใหม่มุ่งใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์พัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาคน หวังพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต 

 

 

          ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า “การศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ต้องอาศัยเทคโนโลยี เครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ทันสมัย ได้ข้อมูลที่แม่นยำ และรวดเร็ว จำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในหลายๆ ด้าน เพื่อรองรับการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์ ซึ่งจะสามารถ ต่อยอดไปสู่การผลิตในอุตสาหกรรมขั้นสูงของประเทศต่อไปในอนาคต อาทิ เทคโนโลยีทางเครื่องมือวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมขั้นสูง เทคโนโลยีการขึ้นรูปที่ละเอียดแม่นยำ เทคโนโลยีด้านโรโบติกส์ เทคโนโลยีวัสดุ เทคโนโลยีการรับ-ส่งข้อมูล การประมวลผลข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ ฯลฯ สดร. มีเป้าหมายจะพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ภายในและต่างประเทศ ก่อให้เกิดการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในสาขาที่เกี่ยวข้อง สู่ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้ต่อไปในอนาคต”

 

          ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าว่า ดาราศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ 8 ปีที่ผ่านมา เรามุ่งใช้ดาราศาสตร์ในการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางดาราศาสตร์ในสังคมไทย และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ในระยะต่อไปเรามุ่งเป้าที่จะใช้ดาราศาสตร์ในการพัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาคน จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีทันสมัยที่ใช้ในปัจจุบัน พัฒนามาจากวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น ดาราศาสตร์ อวกาศ การแพทย์ กีฬา เป็นต้น 

 

          การค้นพบองค์ความรู้ใหม่ทางดาราศาสตร์และอวกาศ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง มารองรับ เมื่อนักดาราศาสตร์ตั้งเป้าหมายในการศึกษาวิจัย ทีมวิศวกรและนักเทคโนโลยีจะร่วมกันพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ ให้สามารถแก้โจทย์ยากๆ เหล่านั้น เป้าหมายในก้าวต่อไปของ สดร. เราจึงจะใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์ยากเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนากำลังคน นับแต่นี้จะเป็นมิติใหม่ของ สดร. ที่จะก้าวสู่เวทีเทคโนโลยีขั้นสูงที่ชัดเจนขึ้น ดร.ศรัณย์กล่าว   ปิดท้าย

 

 

 

ก้าวต่อไปของ สดร. NARIT : The Next Step

 

          ในระยะแรก 8 ปี แรกของการดำเนินงาน สดร. ได้วางโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ พร้อมกับการสร้างเครือข่ายงานวิจัยและวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศจนเข้มแข็ง  ขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างความตระหนักและความตื่นตัวด้านดาราศาสตร์ กระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สู่สังคมไทยให้ครอบคลุมและทั่วถึงทั้งประเทศ รวมถึงเร่งพัฒนากำลังคนด้านดาราศาสตร์ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันนับได้ว่าดาราศาสตร์ไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ประเทศไทยมีหอดูดาวระดับมาตรฐานโลกติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 2.4 เมตร ทันสมัย และใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติในต่างประเทศที่ชิลี สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน สามารถสังเกตการณ์ท้องฟ้าได้ทั้งซีกฟ้าเหนือและซีกฟ้าใต้ เข้าร่วมเครือข่ายโครงการวิจัยดาราศาสตร์ระดับโลก วางแผนต่อยอดไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือสนับสนุนการทำวิจัยด้วยตัวเอง สร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ มีทักษะและประสบการณ์ในการพัฒนาอุปกรณ์ร่วมกับหน่วยงานภายในและต่างประเทศ เพื่อลดการนำเข้าและสามารถพึ่งพาตนเอง

 

 

          ก้าวต่อไปของ สดร. เรายังคงเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดาราศาสตร์ในประเทศเพื่อการวิจัยและวิชาการ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเตรียมเปิดหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา สำหรับในต่างประเทศ ได้เพิ่มเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติควบคุมระยะไกล น้องใหม่ล่าสุด บริเวณซีกฟ้าใต้ ณ หอดูดาวสปริงบรู๊ค ประเทศออสเตรเลีย และวางแผนดำเนินการในอนาคตที่เม็กซิโก  สำหรับงานวิจัยดาราศาสตร์ ได้จัดแบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มดาราศาสตร์แสง กลุ่มดาราศาสตร์วิทยุ กลุ่มทัศนศาสตร์และเครื่องมือทัศนศาสตร์ขั้นสูง กลุ่มวิทยาศาสตร์บรรยากาศ กลุ่มจักรวาลวิทยาและดาราศาสตร์ทฤษฎี นอกจากนี้ ภารกิจการสร้างความตระหนักและความตื่นตัวด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์สู่สังคมไทย ก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผยแพร่องค์ความรู้และเทคโนโลยีดาราศาสตร์ ผ่านการอบรมและสัมมนาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ สอดรับกับการเป็นศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก และสานต่อโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัด มอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ และมุมดาราศาสตร์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สำหรับนำไปใช้ขยายผลจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ภายในโรงเรียนและชุมชน พร้อมกระตุ้นการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

 

          สำหรับความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและต่างประเทศ มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนากำลังคนด้านดาราศาสตร์ มีโครงการความร่วมมือสำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่  โครงการลดมลภาวะทางแสง ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ความร่วมมือด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาค กับสถาบันเดซี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โครงการวิจัยเพื่อศึกษาฟิสิกส์ของอนุภาคนิวตริโน ในโครงการเจียงเหมินอันเดอร์กราวด์นิวทริโน หรือ จูโน (Jiangmen Underground Neutrino Observatory : JUNO) ภายใต้สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง โครงการกล้องโทรทรรศน์ GOTO (Gravitational-Wave Optical Transient Observer) เพื่อศึกษาวิจัยและติดตามค้นหาคลื่นความโน้มถ่วง โครงการความร่วมมือทางดาราศาสตร์ภายใต้กรอบกองทุนความร่วมมือนิวตัน แห่งสหราชอาณาจักร เป็นต้น

 

กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ของหอดูดาวแห่งชาติ
ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

 


เครื่องเคลือบกระจก

 


ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์

 


ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง

 

          ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สดร. ได้ออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ดาราศาสตร์โดยบุคลากรของสถาบันฯ และร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก อาทิ การพัฒนาระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร ของหอดูดาวแห่งชาติ เพื่อยืดอายุการใช้งานและพัฒนาให้มีความทันสมัยทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ การออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจก ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สำหรับเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ของหอดูดาวแห่งชาติ ที่สามารถให้บริการเคลือบกระจกแก่หน่วยงานภายนอกได้อีกด้วย มีห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์ เพื่อออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ความละเอียดสูงสำหรับกล้องโทรทรรศน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับวัดและวิเคราะห์ระบบทางทัศนศาสตร์ที่ทันสมัย รวมถึงสร้างห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตเครื่องมือวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมขั้นสูง สนับสนุนงานออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ดาราศาสตร์ และเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรกลที่มีอยู่แล้วให้สูงกว่าเดิม รองรับงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรกลความละเอียดสูง ที่จะต้องสร้างต่อไปในอนาคต และยังสามารถสนับสนุนการผลิตชิ้นงานความละเอียดสูง ให้กับอุปกรณ์ทางด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์แขนงอื่น รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ที่จะสามารถนำไปต่อยอดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านั้นอีกด้วย 

 

 

          งานด้านดาราศาสตร์วิทยุ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการดาราศาสตร์วิทยุ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ รองรับการปฏิบัติงานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร จานแรกของไทย ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ออกแบบและพัฒนาเครื่องรับสัญญาณในช่วงคลื่นวิทยุสำหรับกล้องโทรทรรศน์ร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และยังมีแผนพัฒนา ออกแบบและผลิตกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-20 เมตรหรือใหญ่กว่า  โดยเฉพาะในย่านความถี่สูง 10-115 กิกะเฮิรตซ์ (GHz.) ซึ่งจะเป็นย่านความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมในอนาคต นับเป็นโอกาสดีที่นักดาราศาสตร์ วิศวกร และช่างเทคนิคชาวไทยจะได้ร่วมงานกับหน่วยงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ รวมทั้งได้เข้าร่วมปฏิบัติงานกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุทั่วโลก นักดาราศาสตร์ วิศวกร และช่างเทคนิคจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงต่าง ๆ มากมาย จะช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมของไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ  นอกจากนี้ยังสามารถเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรมโยธา ทัศนศาสตร์ วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล งานด้านคลื่นวิทยุและซอฟต์แวร์ เป็นต้น

 

          งานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงและศูนย์ข้อมูลดาราศาสตร์แห่งชาติ เพื่อรวบรวมและจัดการข้อมูลปริมาณมหาศาล จากการศึกษาวิจัยข้อมูลทางดาราศาสตร์ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญต่องานวิจัยดาราศาสตร์ในปัจจุบันรวมถึงงานวิจัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

 

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524

E-mail: pr@narit.or.th     Website : www.narit.or.th

Facebook : www.facebook.com/NARITpage

Twitter : @N_Earth ,  Instagram : @NongEarthNARIT

Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/3038-narit-the-next-step
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)