สวทช.-กระทรวงวิทย์ฯ เดินหน้านำวิทย์สร้างคน แก้จน และเสริมแกร่งอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์

ข่าวประจำวันที่: 
Mon 12 February 2018

สวทช.-กระทรวงวิทย์ฯ เดินหน้านำวิทย์สร้างคน แก้จน และเสริมแกร่งอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์


          สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) เดินหน้าสนับสนุนและเสริมความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ นำ “วิทย์สร้างคน” ผ่านโครงการพัฒนาทักษะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน หนุนเศรษฐกิจด้วย “วิทย์แก้จน” สร้างอาชีพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ให้คนรุ่นใหม่และชุมชน และเพิ่มศักยภาพ “วิทย์เสริมแกร่ง” ด้วยผลงานวิจัยนวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะสำหรับปลูกพืชเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์



          ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญ การผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพส่งผลโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร เมล็ดพันธุ์เป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงและมีผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและอุตสาหกรรม ซึ่งไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์โลก (Seed Hub) ที่ผ่านมา สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปเชื่อมโยงและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ เกษตรกร และชุมชนอย่างต่อเนื่อง


 


          “การสร้างคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์นั้น สวทช. ได้ดำเนิน โครงการพัฒนาทักษะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ โดยร่วมกับบริษัทผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ 6 แห่ง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ บ่มเพาะคนรุ่นใหม่สู่อาชีพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และขยายเครือข่ายการผลิตเมล็ดพันธุ์ในชุมชนและเกิดเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกัน จึงเป็นภารกิจวิทย์สร้างคนและวิทย์แก้จนด้วยการสร้างให้เกิดอาชีพผลิตเมล็ดพันธุ์ขึ้น การผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้พื้นที่เพียงน้อยนิด แต่ได้มูลค่ามาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทั้งเทคโนโลยีบวกกับความปราณีตของเกษตรกร ไม่เพียงการพัฒนาบุคลากรให้ภาคอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เท่านั้น



          แต่ยังเกิดความร่วมมือด้านงานวิจัยระหว่าง สวทช. กับบริษัทผู้ประกอบเมล็ดพันธุ์ เพื่อยกระดับการผลิตเมล็ดพันธุ์ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่ง สวทช. โดย สท. และศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ได้นำ เทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะ ถ่ายทอดให้กับบริษัท เชียงใหม่ซีดส์ จำกัด สำหรับการทดลองปลูกพืชเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) ควบคุมสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปลูกพืช นอกจากนี้ระบบเซนเซอร์ที่ใช้ในโรงเรือนเป็นเซนเซอร์ด้านการเกษตรที่พัฒนาขึ้นให้เหมาะกับการทำเกษตรในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย นับเป็นภารกิจวิทย์เสริมแกร่งที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนให้กับภาคการเกษตรไทย” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว


 


          ด้าน นายธณัทชัย ปัญญาฟอง บริษัท เชียงใหม่ซีดส์ จำกัด กล่าวว่า ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลต่อการผลิตและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ การผลิตเมล็ดพันธุ์ในระบบโรงเรือนจึงเป็นทางออกให้กับอุตสาหกรรมผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ ระบบโรงเรือนอัจฉริยะที่ สวทช. พัฒนาขึ้นจะช่วยควบคุมสภาวะแวดล้อมในโรงเรือนให้เหมาะกับการปลูกพืช ช่วยลดความเสี่ยงในการเพาะปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมองว่าคุ้มค่าที่จะลงทุน เนื่องจากเมล็ดพันธุ์มีมูลค่าทางการตลาดสูง นอกจากนี้บริษัทฯ ยังร่วมกับ สวทช. ศึกษาวิจัยการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ในโรงเรือนอัจฉริยะนี้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ประเทศ รวมทั้งจะเป็นเสมือนโชว์รูมเพื่อขยายผลเทคโนโลยีดังกล่าวออกไปสู่บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์อื่นๆ



          น.ส.วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวถึงบทบาทของ สท./สวทช. ในการนำวิทย์สร้างคน แก้จน และเสริมแกร่ง สู่ชุมชน ว่า สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร หรือ สท. เป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. ที่มีบทบาทเชื่อมโยงนำเทคโนโลยีลงสู่ชุมชน ด้วยกลไกการสร้างเกษตรกรเข้มแข็ง ผ่านการจัดการความรู้ การพัฒนาบุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงการผลิตและตลาด โดยนำเทคโนโลยีที่เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาจาก 4 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ รวมทั้งเครือข่ายพันธมิตรภายนอกทั้งสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ขยายผลและถ่ายทอดสู่ชุมชน


 


          “สวทช. ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยในเวทีโลก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แม้ว่าไทยจะส่งออกเมล็ดพันธุ์เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน เป็นอันดับที่ 3 ในเอเชียแปซิฟิค มีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี แต่กลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การวิจัยและพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง



          สวทช. จึงมีความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่การประเมินเชื้อพันธุกรรมพืช การปรับปรุงพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาพันธุ์ที่ก้าวกระโดด เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพ  การถ่ายทอดเทคโนโลยีควบคู่กับการสร้างคนสู่ภาคการผลิต หรือสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จัดเวทีเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในตลาดที่สำคัญ เช่น จีน และพม่า สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของไทยเข้มแข็งยิ่งขึ้น และก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของโลก (Seed Hub) ได้” รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการ สท. กล่าว


URL: 
https://www.nstda.or.th/th/news/11782-20180209
แหล่งที่มา: 
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พว.)