สวทช. นำผลงานเซ็นเซอร์ให้น้ำออนไลน์ ถุงหายใจได้และมาตรฐาน ThaiGAP ร่วมงานมหานครผลไม้ใกล้ชิดเชื่อมโยงเกษตรกรยกระดับคุณภาพผลผลิตแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ข่าวประจำวันที่: 
Fri 9 June 2017

 

สวทช. นำผลงานเซ็นเซอร์ให้น้ำออนไลน์ ถุงหายใจได้และมาตรฐาน ThaiGAP ร่วมงานมหานครผลไม้ใกล้ชิดเชื่อมโยงเกษตรกรยกระดับคุณภาพผลผลิตแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

          ในงานมหานครผลไม้ภาคตะวันออก ประจำปี 2560 (FRUITPITAL FAIR 2017) ระหว่างวันที่ 3 - 11 มิถุนายน 2560 ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำผลงานวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร จัดแสดงต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ชมงาน

 

 

          ประกอบด้วย ระบบ Hendy Sense (เฮนดี้ เซ้นส์) เทคโนโลยีเซ็นเซอร์กับการควบคุมระบบการให้น้ำเพื่อการเกษตร / นวัตกรรมเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ActivePAK (แอคทีฟแพ็ค) เพื่อผักและผลไม้ให้สดอร่อยนานยิ่งขึ้น / และมาตรฐาน ThaiGAP และ Primary ThaiGAP เพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดอาเซียน สอดรับกับยุทธศาสตร์ที่ 1 ของหวัดจันทบุรีในการพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางการผลิต และจัดจำหน่ายผลไม้คุณภาพสูง Hendy Sense (เฮนดี้ เซ้นส์) เทคโนโลยีเซ็นเซอร์กับการควบคุมระบบการให้น้ำเพื่อการเกษตรโดยศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สวทช.ปัจจุบันอุตสาหกรรมหลายๆ ด้าน มีการใช้อุปกรณ์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเซ็นเซอร์ต่างๆ มาช่วยทำให้การผลิตเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น รวมทั้งได้ใช้เซ็นเซอร์มาช่วยทำให้เกิดระบบอัจฉริยะที่สามารถประเมินผลและควบคุมตนเองได้ด้วยการส่งและรับข้อมูลต่างๆ จากทุกสิ่งที่เชื่อมต่อเข้าหากัน หรือ IOT (Internet Of Things) ระบบ Hendy Sense (เฮนดี้ เซ้นส์) หรือเทคโนโลยีเซ็นเซอร์กับการควบคุมระบบการให้น้ำเพื่อการเกษตร

 

 

          นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ ที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC: Thai Microelectronics Center) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยระบบ Hendy Sense ให้ความสำคัญกับการออกแบบโรงเรือนและระบบควบคุมการจัดการโรงเรือนอัตโนมัติเหมาะสมตามชนิดของพืช ประกอบด้วยการปรับสภาพแวดล้อมโรงเรือนให้เหมาะสมกับชนิดของพืชที่ปลูก, ระบบการให้น้ำอัตโนมัติขึ้นกับค่าความชื้นในดินทำให้บริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบจะสามารถควบคุมบริหารจัดการการเพาะปลูกได้ทุกที่และทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟน รวมไปถึงการให้คำปรึกษาการออกแบบโรงเรือนให้เหมาะสมตามชนิดของพืชที่ปลูก ซึ่งในปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรนำระบบดังกล่าวไปใช้งานจริงแล้วในหลายพื้นที่มากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ

 

 

          นวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ
          1. ออกแบบโรงเรือนและระบบควบคุมการจัดการโรงเรือนอัตโนมัติเหมาะสมตามชนิดของพืช ด้วยระบบ IOT จัดการน้ำ ปุ๋ย อุณหภูมิ ความชื้น ในโรงเรือนโดยโปรแกรมควบคุมผ่าน smartphone
          2. โรงเรือนปรับสภาพแวดล้อม ออกแบบความสูงเหมาะสม ลดความร้อน มีระบบอัตโนมัติควบคุม การทำงานพัดลมดูดอากาศร้อนใต้หลังคา ระบบปรับลดอุณหภูมิให้กับพืช และม่านบังแสงภายในโรงเรือน
          3. วัสดุประกอบโรงเรือน ที่ได้มาตรฐานและคุณภาพสากล ด้วยเหล็กมีคุณภาพดีเหมาะสมกับงานด้านการเกษตร
          4. ระบบการให้น้ำในโรงเรือนแบบครบวงจร ออกแบบให้เหมาะสมตามชนิดของพืชและพื้นที่การเพาะปลูก ไม่ต้องห่วงเรื่องพืชขาดน้ำ/ปุ๋ย

 

          กลุ่มเกษตรกรที่สนใจสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อขอเข้าไปศึกษาดูงานเพื่อเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับแปลงเกษตรและโรงเรือนของตัวเองได้ ติดต่อและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สวทช. 51/4 หมู่ 1 ถนนสุวินทวงศ์ ตำบลวังตะเคียน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000 โทร. 085-109-9106, 087-396-9449

นวัตกรรมเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ActivePAK (แอคทีฟแพ็ค) เพื่อผักและผลไม้ให้สดอร่อยนาน...ยิ่งขึ้น

 

 

          ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ริเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีฟิล์มบรรจุภัณฑ์สำหรับยืดอายุและรักษาคุณภาพผักผลไม้สดในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลากว่า 15 ปี โดยมีการรับโจทย์จริงจากผู้ประกอบการผักและผลไม้สด มีการพัฒนาและร่วมทดสอบกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง

          โดยนวัตกรรมเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ActivePAK (แอคทีพแพ็ค) เป็นเหมือนถุงหายใจได้ ช่วยให้ผักและผลไม้อร่อยสดนานยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยี EMA (Equilibrium Modified Atmosphere) ที่สร้างสมดุลบรรยากาศภายในบรรจุภัณฑ์ ทำให้ผักและผลไม้สามารถคงความสด คงคุณค่า และรสชาติให้สด อร่อย ได้นานสูงสุด 2 - 5 เท่า ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำนวัตกรรม ActivePAK ไปใช้ประโยชน์จริงแล้วในภาคอุตสาหกรรม ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ผู้ผลิตเพื่อทำการผลิตฟิล์มบรรจุภัณฑ์พลาสติก และสู่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ใช้งานอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการผลิตผลสดและกลุ่มเกษตรกร เพื่อใช้สำหรับคงความสดของผักที่วางจำหน่ายบนชั้นวางได้ยาวนานยิ่งขึ้น และล่าสุดกับฟิล์มบรรจุภัณฑ์รุ่นใหม่ ActivePAK Ultra (แอคทีพแพ็ค อัลตร้า) ที่ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. พัฒนาขึ้น และร่วมทดสอบกับมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อให้ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ ActivePAK Ultra สามารถตอบโจทย์ความต้องการยืดอายุเห็ดหอมสดให้สดนานขึ้นกว่าบรรจุภัณฑ์แบบเดิมที่เป็นถาดพลาสติกเจาะรูระบายอากาศ โดยสามารถยืดอายุเห็ดหอมสดให้สดยาวนานได้ถึง 9 วัน แทนการใช้ถาดพลาสติกเจาะรูที่เก็บเห็ดหอมได้เพียง 3 วันเท่านั้น อีกทั้งยังเหมาะสมกับสภาวะอุณหภูมิที่มีการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการบรรจุและการขนส่ง ตั้งแต่ยอดดอยมายังศูนย์กระจายสินค้า และมายังกรุงเทพฯ จนถึงชั้นวางจำหน่ายสินค้า นับเป็นการเพิ่มโอกาสการจำหน่ายเห็ดหอมสดจากโครงการหลวงที่แต่เดิมเคยขายได้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้สามารถส่งเห็ดหอมสดเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ ได้ และจะมีการนำถุงไปประยุกต์ใช้กับเห็ดชนิดอื่นๆ หน่อไม้ฝรั่งและมะม่วงน้ำดอกไม้ต่อไปด้วย

          ผู้ประกอบการผักและผลไม้สดที่ต้องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ สามารถติดต่อสอบถามขอข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ ทีมพัฒนาธุรกิจและการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์ ActivePAK เอ็มเทค สวทช. โทร. 0 2564 6500 ต่อ 4655 (ดร.วิชชุดา เดาด์ / คุณชนิต วานิกานุกูล) หรืออีเมล witchuda.daud@nstda.or.thchanitw@mtec.or.th

มาตรฐาน ThaiGAP / Primary ThaiGAP 
เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิตพืชผักและผลไม้ไทย

 

 

          สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” และโครงการ “การพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP” มุ่งเดินหน้าหนุนผู้ประกอบการผักและผลไม้ไทยให้ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP และ Primary ThaiGAP เพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคด้วยความปลอดภัยของสินค้าเกษตร และที่สำคัญเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรไทยแข่งขันได้ในอาเซียนและตลาดโลก

 

          โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการ ในการดำเนินโครงการ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่  AEC ด้วย ThaiGAP” ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 - ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 30 รายที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP และโครงการ “การพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP” ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2559 - ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 2 รายที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Primary ThaiGAP โดยผลิตผลทางเกษตรที่เข้าร่วมโครงการล้วนมาจากผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ที่หลากหลายกว่า 70 ชนิด อาทิ เมล่อน มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม แคนตาลูป แตงโม กล้วยหอม พริก ทุเรียน มังคุด เงาะ และมะเขือเทศ เป็นต้น

โปรแกรม ITAP สวทช. พร้อมเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการผักและผลไม้ไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP / Primary ThaiGAP อย่างต่อเนื่อง กำหนดเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ สำหรับปี 2560 - 2561 จำนวน 20 ราย สอบถามข้อมูลโครงการเพิ่มเติม ติดต่อ คุณพนิตา ศรีประย่า เจ้าหน้าที่โปรแกรม ITAP โทร. 0 2564 7000 ต่อ 1301 หรืออีเมล panita@nstda.or.th

 

URL: 
https://www.nstda.or.th/th/news/11204-20170607-fruitpital-fair-2017
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)