ใจกลางดาวแคระขาวเป็นอย่างไร?

ข่าวประจำวันที่: 
Tue 23 January 2018

ใจกลางดาวแคระขาวเป็นอย่างไร?

          ดาวฤกษ์ที่มีมวลไม่มาก ในช่วงสุดท้ายแก่นของมันจะยุบตัวกลายเป็นดาวแคระขาวซึ่งมีความหนาแน่นสูง ถ้ารอบๆดาวแคระขาวมีดาวฤกษ์หรือแก๊ส มันอาจดึงดูดแก๊สเหล่านั้นเข้ามาจนเกิดการระเบิดที่เรียกว่า ซูเปอร์โนวาชนิด IA ซึ่งเป็นเหมือนแหล่งกำเนิดแสงมาตรฐานที่นักดาราศาสตร์ใช้ในการหาระยะห่างของกาแล็กซีที่อยู่ไกลจากเรามากๆได้



          งานวิจัยล่าสุดทำการศึกษาดาวแคระขาว KIC08626021 ที่อยู่ห่างจากโลก 1,375 ปีแสง มีขนาดพอๆกับโลกของเรา แต่มีมวลราวๆ 60%ของมวลดวงอาทิตย์ พบว่าแก่นของดาวแคระขาวดวงนี้มีมวลมากกว่าที่ทฤษฎีเก่าระบุไว้ถึง 40% และธาตุออกซิเจนเป็นองค์ประกอบมากกว่าทฤษฎีเก่าถึง 15%


          ดาวแคระขาวดวงนี้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า pulsating white dwarf ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ความสว่างของมันมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการคลื่นการสั่นที่เกิดจากแรงโน้มถ่วง กล่าวคือ ของไหลบนผิวดาวมีความปั่นป่วนและสั่นไหวจากแรงโน้มถ่วงของตัวมันเอง นักดาราศาสตร์สศึกษาปรากฏการณ์นี้ด้วยกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ แล้วนำมาสร้างแบบจำลองแก่นกลางดาวแคระขาวได้


          การค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ซึ่งในอนาคตหากงานวิจัยนี้ได้รับการยืนยันความถูกต้อง อาจส่งผลต่อวงการดาราศาสตร์ฟิสิกส์อย่างมากเพราะองค์ประกอบของดาวแคระขาวที่เปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลต่อการวัดระยะห่างของกาแล็กซีต่างๆได้

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3476-pulsating-white-dwarf
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่ชาติ (สดร.)