ไข้อวกาศ : อาการที่เกิดขึ้นจากการอยู่ในอวกาศนานๆ

ข่าวประจำวันที่: 
Fri 22 December 2017

ไข้อวกาศ : อาการที่เกิดขึ้นจากการอยู่ในอวกาศนานๆ

          นักวิทยาศาสตร์เก็บข้อมูลสุขภาพของนักบินอวกาศที่ปฏิบัติงานในสถานีอวกาศนานานชาติเป็นระยะเวลานานจนรู้ว่าสภาพไร้แรงโน้มถ่วงนั้นส่งผลต่อร่างกายเราหลายอย่าง เช่น กล้ามเนื้อฝ่อ การมองเห็นแย่ลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของยีน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นอาการส่งผลต่อภารกิจระยะยาวอย่างการเดินทางไปยังดาวอังคารแน่นอน 



          ล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2017 นักวิทยาศาสตร์พบอาการที่เกิดขึ้นกับนักบินอวกาศ นั่นคือ ร่างกายของนักบินอวกาศมีอุณหภูมิสูงกว่าคนที่อยู่บนโลกราวๆ 1องศาเซลเซียส


          งานวิจัยนี้ศึกษาในนักบินอวกาศ 11 คน พบว่าในช่วงเวลาสองเดือนครึ่งที่ทำภารกิจในอวกาศอุณหภูมิร่างกายค่อยๆสูงขึ้นๆ แต่เมื่อกลับสู่โลก อุณหภูมิร่างกายก็กลับสู่ค่าปกติ


          อาการที่ถูกค้นพบนี้ถูกเรียกว่า ไข้อวกาศ  (space fever)  แม้จะเพิ่มเพียง 1 องศาเซลเซียส แต่ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลไม่น้อย เพราะในเมื่อนักบินอวกาศต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อป้องกันมวลกระดูกพร่องและกล้ามเนื้อฝ่อ การที่อุณหภูมิร่างกายลดลงช้าอาจทำให้ร่างกายเหน็ดเหนื่อยจนเกิดปัญหาได้ (นักบินอวกาศบางคนมีอุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียสขณะออกกำลังกาย)


          อุณหภูมิปกติของร่างกายมนุษย์ทั่วๆไปจะคงที่อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส กลไกการควบคุมอุณหภูมิร่างกายเรียกว่า thermoregulation ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสมองส่วนไฮโปทาลามัสทำให้ร่างกายมีการปรับอุณหภูมิด้วยเหงื่อและการบีบรัดของของเส้นเลือด หากระบบดังกล่าวมีปัญหาทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากเกินไปจนเกิด heat stroke แต่ถ้าอุณหภูมิร่างกายต่ำเกินไปจะทำให้เกิดอาการ hypothermia ทั้งสองอย่างนี้ส่งผลเสียต่ออวัยวะและร่างกายได้


          อาการไข้อวกาศอาจเกิดจากการที่เหงื่อนั้นออกยากขึ้นในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เนื่องจากแรงโน้มถ่วงคอยดึงให้หยดเหงื่อให้ร่วงออกจากร่างกายเรา แต่ในสภาวะไร้น้ำหนัก เหงื่อจะจับตัวอยู่บนผิวนักบินอวกาศซึ่งต้องคอยใช้ผ้าเช็ดออก นอกจากนี้ระบบการถ่ายเทความร้อนยังได้รับผลกระทบเนื่องจากการไหลของของเหลวในร่างกายในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงมีการเปลี่ยนแปลง


          นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้อวกาศอาจเกิดจากการที่ร่างกาย “ตีความ” ว่าสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงหรือ การได้รับรังสีมากกว่าปกติว่าเป็นการติดเชื้อก็ได้ ร่างกายเลยปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้นก็ได้


          ในตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปและทางแก้ 


          แต่ก็ยังนับว่าดีที่รู้ตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ใช่ไปเจอหน้างานระหว่างการเดินทางไปดาวอังคารแล้วทำอะไรไม่ถูก

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3454-space-fever
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่ชาติ (สดร.)