“CRAB BANK” เครื่องอนุบาลปูม้าแบบอัตโนมัติ ช่วยฟื้นฟูปูม้าไทย

ข่าวประจำวันที่: 
Wed 4 March 2020

นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี อาสาร่วมแก้ปัญหาปริมาณปูม้าลดลงจนใกล้วิกฤติ เหตุจากการทำประมงเชิงพาณิชย์อย่างขาดจิตสำนึก โดยนำภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการฟื้นฟูปริมาณปูม้า ผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้เป็น “Crab Bank” เครื่องอนุบาลปูม้า ที่เพิ่มอัตราการรอดของลูกปูได้สูงถึง 10 เท่าตัว

​ “Crab Bank” เครื่องอนุบาลปูม้า คือผลงานของ นายสิทธิพร จันทานิตย์ และ นายภานุวัฒน์ อักษรคง นักศึกษา ปวส. 2 จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ซึ่งคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์ “Enjoy Science: Young Maker Contest” ปีที่ 4 โดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

​ นายสิทธิพร จันทานิตย์ กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่ทำโครงการนี้ มาจากปริมาณปูม้าในทะเลไทยกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาปริมาณการเกิดของปูม้าตามธรรมชาติน้อยกว่าปริมาณที่ตลาดต้องการถึงร้อยละ 10 สาเหตุสำคัญมาจากการเร่งจับปูเพื่อจำหน่ายทำกำไรในช่วงที่ปูม้ากำลังได้รับความนิยมในการบริโภคสูง แม้ปูที่จับมาได้จะเป็น ‘ปูไข่นอกกระดอง’ (แม่ปูระยะที่ขับไข่มาไว้ที่บริเวณจับปิ้ง ใกล้จะสลัดไข่ออกจากตัวเพื่อฟักเป็นลูกปู) ก็ยังถูกนำไปจำหน่ายเช่นกัน

​ “จากปัญหาดังกล่าวจึงได้ศึกษาวิธีการฟื้นฟูปริมาณปูม้าจากธนาคารชุมชน บ้านแหลมโพธิ์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งชาวประมงท้องถิ่นที่นั่นมีการจัดการเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งการรณรงค์ให้ความรู้ และทำหน้าที่อาสาในการขยายพันธุ์ปูม้า โดยให้ชาวประมงนำปูไข่นอกกระดองที่จับได้มาอนุบาลที่ธนาคารแห่งนี้จนแม่ปูสลัดไข่ออกจากตัว เพื่อนำไข่ปูม้าไปปล่อยลงทะเล ส่วนแม่ปูที่สลัดไข่แล้วก็สามารถนำไปจำหน่ายต่อได้ดังเดิม ด้วยวิธีการนี้ชาวประมงจะไม่เสียรายได้ และยังไม่ตัดโอกาสที่ปูม้าจะได้ขยายพันธุ์ต่อตามธรรมชาติอีกด้วย ดังนั้นเพื่อช่วยสนับสนุนให้การทำงานของธนาคารชุมชน ‘สะดวก’ และ ‘มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น’ จึงได้นำองค์ความรู้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวประมงท้องถิ่น มาผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนได้เป็น ‘Crab Bank’ เครื่องอนุบาลปูม้าแบบอัตโนมัติ ที่ลดการใช้แรงงานคนในการดูแล ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ลูกปูตาย และประหยัดพื้นที่ในการทำงาน”

​ สิทธิพร อธิบายถึงลักษณะของเครื่องว่า Crab Bank เป็นเครื่องอนุบาลปูม้าแบบอัตโนมัติ โดยตัวเครื่องแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ลักษณะแบบคอนโดมิเนียม ส่วนบนสุดคือถังเก็บและกรองน้ำเค็มที่สูบมาไว้ใช้ในการเลี้ยงปู ชั้นที่ 2 ชั้นอนุบาลปูม้าไข่นอกกระดอง ชั้นนี้จะมีถังสำหรับอนุบาล 9 ถัง 1 ถังกลาง และ 8 ถังล้อมรอบ โดย 1 ถังจะสามารถอนุบาลปูม้าไข่นอกกระดองได้ 1 ตัว ส่วนชั้นที่ 3 คือ ชั้นอนุบาลลูกปู มีลักษณะเป็นถังขนาดใหญ่สำหรับรองรับการอนุบาลลูกปูปริมาณมาก

​ “การทำงานของ Crab Bank เพียงนำปูไข่นอกกระดองมาใส่ถังชั้นที่ 2 แล้วกดปุ่มควบคุม ระบบจะคำนวณระยะเวลาการอนุบาลและเติมน้ำลงสู่ถังสำหรับเลี้ยงปูไข่นอกกระดองให้โดยอัตโนมัติ กระทั่งเมื่อปูสลัดไข่แล้ว ไข่ใน 8 ถังรอบนอก จะถูกนำลงไปปล่อยลงสู่ทะเล โดยอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว เพื่อให้ฟักต่อตามธรรมชาติ ส่วนไข่ในถังกลางจะถูกปล่อยลงสู่ชั้นที่ 3 ชั้นอนุบาลลูกปู เพื่ออนุบาลไข่จนฟักเป็นตัวและเลี้ยงดูต่อจนตัวมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อเพิ่มโอกาสรอด ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติผ่านท่อที่ต่อตรงจากเครื่องไปยังป่าชายเลน สำหรับขั้นตอนการปล่อยเครื่องจะมีระบบเซนเซอร์แบบ IoT (Internet of Things) ตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำบริเวณจุดที่จะปล่อย แล้วรายงานผลมายังเครื่องว่ามีสภาวะเหมาะสมแก่การปล่อยลูกปูแล้วหรือไม่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อลูกปูให้มากที่สุด จึงทำให้ Crab Bank สามารถเพิ่มโอกาสการรอดของลูกปูได้มากกว่าการเติบโตตามธรรมชาติถึง 10 เท่าตัว หรือมีปริมาณลูกปูเกิดใหม่อย่างน้อยหลักหมื่นตัวต่อแม่ปูม้า 1 ตัว”

​ ด้าน ภานุวัฒน์ อักษรคง กล่าวว่า อีกหนึ่งจุดเด่นของเครื่องนอกจากการทำงานแบบอัตโนมัติ คือ การ ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อป้องกันไฟดับ เพราะหากไฟดับเครื่องเติมอากาศเข้าสู่ถังอนุบาลปูจะไม่ทำงาน ซึ่งอาจทำให้ปูขาดอากาศตาย การใช้โซลาร์เซลล์จะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 2,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี และลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

​ “สำหรับการนำไปขยายผลใช้งานจริง ตั้งใจที่จะถ่ายทอดนวัตกรรมนี้แก่กลุ่มธนาคารปูม้า เพื่อให้มีการขยายผลไปสู่เครือข่ายที่มีหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ หากมีทุนสนับสนุนก็ตั้งใจจะผลิต Crab Bank เพิ่ม เพื่อนำไปติดตั้งไว้ที่ชุมชนต่างๆ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการอนุบาลปูม้าไข่นอกกระดอง และยังนำไปใช้อนุบาลสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เช่น ไข่หมึกทะเล และปูดำไข่นอกกระดอง ฯลฯ ได้ด้วย”

นับเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนให้ชาวประมงอนุรักษ์ และฟื้นฟูปริมาณสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลข่าวโดย : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand

URL: 
https://www.mhesi.go.th/home/index.php/pr/news/1066-crab-bank