31 ม.ค. นี้ สดร. ชวนชาวไทยจับตา “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งแรกของปี

ข่าวประจำวันที่: 
Tue 30 January 2018

31 ม.ค. นี้ สดร. ชวนชาวไทยจับตา “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งแรกของปี

 

          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 31 มกราคม เกิด “ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง” ในไทยเห็นได้ด้วยตาเปล่านานกว่าชั่วโมง ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:51-21:07 น.สังเกตได้ทุกพื้นที่ของประเทศ ตั้งแต่หัวค่ำเป็นต้นไปทางทิศตะวันออก  ตั้งจุดสังเกตการณ์หลัก 4 จุด เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา เชิญชวนผู้สนใจร่วมชมจันทร์สีแดงอิฐแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ พร้อมเครือข่ายโรงเรียนอีกกว่า 260 แห่งทั่วประเทศ หวังให้ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ส่งเสริมบรรยากาศสังคมการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์แก่คนไทย

 

 

 

 

          ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า วันที่ 31 มกราคม 2561 จะเกิด  “ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง” นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี 2561 พื้นที่ที่สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในครั้งนี้ ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย บริเวณตอนเหนือและตะวันออกของทวีปยุโรป ตอนเหนือและตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตอนเหนือและตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งประเทศไทยสามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ได้ด้วยตาเปล่า ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทางทิศตะวันออกในช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:30 น. เป็นต้นไป

 

 

          สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 31 มกราคม 2561 ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 17:51 น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18:48 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 19:51-21:07 น. เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 16 นาที ช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง เมื่อสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงหลังเวลา 21:07 น. ไปแล้ว ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกกลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกหมดทั้งดวงในเวลา 22:11 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่จะสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์จากเงามัวของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 23:08 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

 

 

          ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2561 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยถึงสองครั้งด้วยกัน ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของปี 2561 ซึ่งวันดังกล่าวยังตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลก จะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในไทยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กรกฏาคม 2561

 

 

          ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปทีละน้อยจนดวงจันทร์เข้าไปอยู่เงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก ช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกบางส่วนจะเรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน” และช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า “จันทรุปราคาเต็มดวง” จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากได้รับแสงสีแดงซึ่งเป็นคลื่นที่ยาวที่สุด  หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์

 

 

 

 

ภาพแสดงตำแหน่งของดวงจันทร์ระหว่างการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเมื่อเทียบกับเงาโลก ในวันที่ 31 มกราคม 2561

 

 

 

 

 

 

 

ตารางแสดงเวลาการเกิดจันทรุปราคาในวันที่ 31 มกราคม 2561 (ตามเวลาในประเทศไทย)

 

เหตุการณ์

เวลาในประเทศไทย

   เริ่มเกิดจันทรุปราคาเงามัว(P1)

17:51 น.

   เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน(U1)

18:48 น.

   เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง(U2)

19:51 น.

   กึ่งกลางจันทรุปราคา

20:29 น.

   สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง(U3)

21:07 น.

   สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน(U4)

22:11 น.

   สิ้นสุดจันทรุปราคาเงามัว(P4)

23:08 น.

 

 

 

          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง 4 จุด ตั้งแต่เวลา 17:00 – 21:00 น. ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ชวนประชาชนส่องดวงจันทร์สีแดงอิฐผ่านกล้องโทรทรรศน์ พร้อมถ่ายทอดสดการเกิดปรากฏการณ์ผ่านจอภาพขนาดใหญ่ภายในบริเวณงานให้ชมกันอย่างเต็มตา รวมถึงกิจกรรมทางดาราศาสตร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ แนะนำการดูดาวเบื้องต้น เรียนรู้ท้องฟ้าและกลุ่มดาวต่าง ๆ สังเกตวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ เช่น เนบิวลาในกลุ่มดาวนายพราน กระจุกดาวลูกไก่ กระจุกดาวคู่ กระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาวหมาใหญ่ เป็นต้น เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฟรี!! โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

 

 

จุดสังเกตการณ์หลัก 

 

 

เชียงใหม่ – ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่  สอบถามเพิ่มเติม โทร. 081-8854353

 

 

นครราชสีมา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สอบถามเพิ่มเติม โทร. 086-4291489

 

 

ฉะเชิงเทรา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา สอบถามเพิ่มเติม โทร. 084-0882264

 

 

สงขลา – ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา สงขลา สอบถามเพิ่มเติม โทร. 095-1450411

 

          นอกจากนี้ ยังร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า กว่า 260  แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ ตั้งกล้องโทรทรรศน์บริการนักเรียนและชุมชนใกล้เคียงในครั้งนี้ด้วย  และยังถือเป็นโอกาสดีที่โรงเรียนต่าง ๆ จะใช้ปรากฏการณ์ครั้งนี้ สร้างงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับโรงเรียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ได้อีกด้วย โรงเรียนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการทำงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวกับทางสถาบันฯ ได้ ดร.ศรัณย์ กล่าวปิดท้าย

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/3484-narit-lunar-eclipse-2561-01
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่ชาติ (สดร.)