กัญชา: พืชร้ายหรือสมุนไพรทางเลือก

วันที่เผยแพร่: 
Wed 16 September 2020

หลายประเทศทั่วโลกผ่อนปรนกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้อง
แต่กัญชายังถือเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ในไทย ซึ่งผู้เสพต้องระวางโทษปรับ และ/หรือ จำคุก
ส่วนรัฐบาลเพิ่งเริ่มหาทางแก้กฎหมายเปิดช่องให้ศึกษาวิจัยพืชเสพติดได้อย่างถูกต้อง แม้ผู้ป่วยไทยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคร้ายมาหลายปีแล้ว

บีบีซีไทย คุยกับผู้เกี่ยวข้องถึงผลดี ผลเสีย ของ พืชเสพติดชนิดนี้ ทั้ง ผู้ทดลองใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อรักษาโรคร้าย
แพทย์ผู้สนับสนุน หน่วยงานปราบยาเสพติด และ แพทยสภา
หลายประเทศทั่วโลกผ่อนปรนกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้อง แต่กัญชายังถือเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ในไทย ซึ่งผู้เสพต้องระวางโทษปรับ และ/หรือ จำคุก ส่วนรัฐบาลเพิ่งเริ่มหาทางแก้กฎหมายเปิดช่องให้ศึกษาวิจัยพืชเสพติดได้อย่างถูกต้อง แม้ผู้ป่วยไทยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคร้ายมาหลายปีแล้ว

บีบีซีไทย คุยกับผู้เกี่ยวข้องถึงผลดี ผลเสีย ของ พืชเสพติดชนิดนี้ ทั้ง ผู้ทดลองใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อรักษาโรคร้าย แพทย์ผู้สนับสนุน หน่วยงานปราบยาเสพติด และ แพทยสภา

กัญชาในกระแสโลก

ทุกวันนี้หลายประเทศทั่วโลกอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย อาทิ เนเธอร์แลนด์ โคลอมเบีย อุรุกวัย แคนาดา และออสเตรเลีย รวมทั้งในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งนับเป็นรัฐที่ 6 ของสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ขายปลีกกัญชาเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากอนุญาตให้สามารถใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ประเทศเปรูเพิ่งผ่านกฎหมายอนุญาตการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ หลังจากตำรวจได้บุกตรวจบ้านของ แอนา อัลวาเรซ ซึ่งเธอใช้เป็นแล็บสกัดกัญชาชั่วคราวเพื่อรักษาลูกชายของเธอที่ป่วยเป็นโรคลมชัก ร่วมกับแม่อีกหลายคนที่มีลูกป่วยคล้ายกัน

อย่างไรก็ตามในบางประเทศ กระแสอาจหวนกลับ อย่างเช่น ในสหรัฐฯ นายเจฟฟ์ เซสชันส์ รมว.กระทรวงยุติธรรมก็ออกมาระบุเมื่อต้นเดือนมกราคม 2561 ว่าเขากำลังพยายามหยุดยั้งประกาศที่ออกมาในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ให้รัฐต่าง ๆ ทำให้การใช้กัญชาเป็นเรื่องถูกกฎหมายได้ และประกาศนี้เองที่ทำให้การใช้กัญชาขยายตัวขึ้นมากในสหรัฐฯ

กัญชาเป็นยาในการแพทย์แผนไทย

กัญชาเคยถูกใช้เป็นยาในการแพทย์แผนไทย ซึ่งมูลนิธิสุขภาพไทยระบุในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 1-7 ก.ค. 2559 ว่าหลักฐานปรากฎใน "แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์" ตำราแพทย์แผนไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมียากว่า 10 ตำรับที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบเมื่อปี 2413

ต่อจากนั้นราว 40 ปี สนธิสัญญาควบคุมยาเสพติดฉบับแรกของโลก ณ กรุงเฮก เมื่อปี 2455 ได้ทำให้หลายประเทศทั่วโลกที่ร่วมลงนาม รวมทั้งประเทศไทย หรือ สยาม ณ เวลานั้น เริ่มปรับกฎหมายเพื่อควบคุมยาเสพติดในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

จนกระทั่งในสมัยของพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติกันชา พ.ศ. 2477 ซึ่งห้ามให้ผู้ใดปลูก นำเข้า ซื้อขาย หรือเสพกัญชา ยกเว้นจะได้รับอนุญาตโดยรมว.มหาดไทยเพื่อการใช้ประโยชน์ในทางโรคศิลปะ ตามมาด้วย พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายยาเสพติดที่บังคับใช้ในปัจจุบัน

ไทยเริ่มตามโลก?

นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่ามติดังกล่าวมีส่วนทำให้ประเทศไทยพิจารณายกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่จะนำกฎหมายยาเสพติดทั้ง 7 ฉบับมารวมเป็นฉบับเดียว รวมทั้งเปิดช่องให้สามารถใช้ยาเสพติดเพื่อศึกษาและวิจัยได้สะดวกขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาของครม. ก่อนเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

การครอบครองกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยปัจจุบันสามารถทำได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขและสามารถทดลองกับสัตว์เท่านั้น เพราะหากใช้กับคนจะเท่ากับเป็นการเสพซึ่งผิดกฎหมาย

"ประเทศไทยเราก็มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาว่าเราจะปรับระดับของกัญชง กัญชา กระท่อม และเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า ว่าเราจะปรับระดับของการเป็นยาเสพติดมาไว้ตรงไหน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มองว่า ศึกษาว่า ยาเสพติด 4 ตัวนี้มันน่าจะมีประโยชน์ทางการแพทย์" เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว

กัญชง ซึ่งเส้นใยสามารถนำไปผลิตเสื้อกันกระสุนได้ ปัจจุบันรัฐบาลได้อนุญาตให้ทดลองปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเป็นเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาข้อดีข้อเสียของการเคี้ยวใบกระท่อมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในหลายจังหวัดทางภาคใต้

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการดังกล่าวยังมองว่ากัญชายังเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งยังไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อการบันเทิง "เพราะจากการวิจัยก็พบว่าการใช้กัญชาเพื่อการบันเทิงมันอาจจะมีผลต่อสมอง โดยเฉพาะเยาวชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องอาจจะมีผลร้ายต่อร่างกายหรือสมอง" เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว

"พูดถึงกัญชา ก็มีการวิจัยว่าสามารถช่วยรักษาโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งหรือโรคเกี่ยวกับระงับการปวด อะไรต่าง ๆ แต่ยังไม่มีผลวิจัยที่เป็นชิ้นเป็นอัน รับรองอย่างถูกต้อง" นายศิรินทร์ยากล่าว

"ประมวลกฎหมายใหม่จะเน้นการอนุญาตให้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สามารถทดลองกัญชาว่ามีประโยชน์อย่างไร ถ้าทำวิจัยออกมาแล้วสามารถใช้ในทางการแพทย์ได้ มันก็จะมีประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป"

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้รายงานว่า นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เลือกพื้นที่ขนาด 5,000 ไร่ใน จ.สกลนคร เพื่อทดลองปลูกกัญชาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ก่อนที่หนึ่งวันต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปฏิเสธว่าไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน

"ใครไปคิดมาเองหรือเปล่า ผมไม่รู้ ต้องไปดูว่าวันนี้ต่างประเทศเขาทำอะไรในเรื่องเหล่านี้บ้าง ลองไปตามดูก็แล้วกัน ... กัญชง เราก็ใช้เฉพาะในเรื่องของการมาทำเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเราต้องควบคุมให้ได้ด้วย เพราะเป็นพืชที่มีสารเสพติด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

"แต่ในต่างประเทศตอนนี้กำลังปลูกกันเยอะแยะไปหมด ที่อเมริกานี่ปลูกกันเพื่อนำไปเป็นยา แต่ของเราทำอะไรต่าง ๆ ก็ตาม ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกประเภท ซึ่งคนไทยก็ยังรับไม่ได้ในเรื่องนี้ ก็ต้องค่อย ๆ ศึกษากันไปก่อน"

ที่มา https://www.bbc.com/thai/thailand-42748753

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2-%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81
Hits 889 ครั้ง