สุนัขหลอดแก้ว ครั้งแรกของโลก

วันที่เผยแพร่: 
Fri 9 November 2018

ความสำเร็จดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Public Library of Science ONE เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นการเปิดประตูสู่การอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์รวมถึงเทคนิคใหม่ๆ ในการตัดต่อยีนเพื่อกำจัดโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในสุนัขและเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์

ทีมนักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการปฏิสนธิไข่และอสุจิในหลอดทดลองภายในห้องปฏิบัติการเพื่อสร้างตัวอ่อน (embryo) และนำไปฝากไว้ยังสุนัขเพศเมียในช่วงเวลาของวงจรการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติโดยตัวอ่อนจำนวน 19 ตัวถูกย้ายไปฝากไว้ยังสุนัขเพศเมีย 2 ตัวจาก 2 สายพันธุ์ ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดลูกสุนัขสุขภาพแข็งแรงจำนวน 7 ตัว โดย 2 ตัวเป็นพันธุ์ผสมระหว่างแม่สุนัขพันธุ์บีเกิ้ลกับพ่อสุนัขพันธุ์คอกเกอร์สแปเนียล และอีก 5 ตัวมาจากแม่และพ่อสุนัขพันธุ์บีเกิ้ล

ความท้าทายอันดับแรกของทีมวิจัยคือ การนำไข่ที่พร้อมปฏิสนธิออกจากสุนัขเพศเมีย ซึ่งต้องรอให้ไข่หลุดออกจากรังไข่เข้าสู่ท่อนำไข่ (เมื่อเทียบกับคน) แล้วเป็นเวลา 1 วันก่อน ไข่ถึงจะพร้อมรับการปฏิสนธิ (สำหรับสุนัข) ความท้าทายอันดับถัดมาคือ การเตรียมสภาวะแวดล้อมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิสนธิซึ่งทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการทำให้เกิดการปฏิสนธิถึง 80 – 90 เปอร์เซ็นต์และความท้าทายสุดท้ายคือ การแช่แข็งตัวอ่อน (ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว) ซึ่งเทคนิคนี้ช่วยให้ทีมนักวิจัยสามารถย้ายตัวอ่อนเข้าไปสู่ท่อนำไข่ของแม่สุนัขได้ตรงเวลาของช่วงวงจรการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 1 หรือ 2 ครั้งต่อปีเท่านั้น และด้วยเทคนิคการตัดต่อยีนแบบใหม่ นักวิจัยอาจใช้เวลาเพียง 1 วัน ในการกำจัดยีนก่อโรคทางพันธุกรรมและลักษณะด้อยในตัวอ่อนของสุนัข เช่น สุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ มียีนที่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในขณะที่พันธุ์ดัลเมเชียน มียีนที่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นนิ่วในท่อทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น นับว่าสุนัขเป็นสัตว์ทดลองที่มีประสิทธิภาพในการทำความเข้าใจเรื่องโรคทางพันธุกรรมขั้นพื้นฐานเพราะสุนัข และมนุษย์ มีลักษณะความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เหมือนกันกว่า 350 โรค ดังนั้นความสำเร็จนี้นอกจากจะนำไปใช้ในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์แล้ว ยังสามารถนำไปสู่เทคนิคการตัดต่อยีนผิดปกติ และผสมเทียมตัวอ่อน เพื่อป้องกันโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ได้อีกด้วย

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ อพวช. รายงาน
Link ที่เกี่ยวข้อง
http://www.bbc.com/news/science-environment-35053391
http://www.sciencedaily.com/releases/2015/12/151209183500.htm

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%82%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%A7-%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81
Hits 359 ครั้ง