อะแคนทามีบา - ปรสิตตัวร้ายที่มากับน้ำ

วันที่เผยแพร่: 
Tue 17 December 2024

FYI Today! จะพูดถึงปรสิตตัวร้ายที่มากับน้ำที่ช่วงนี้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้หลายจังหวัด นั่นคือปรสิต ‘อะแคนทามีบา’

        อะแคนทามีบา (Acanthamoeba spp) เป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในตอนนี้ เพราะปรสิตร้ายนี้ นำโรคภัยมาสู่คนและสามารถติดต่อสู่คนได้ผ่านทางน้ำดื่ม น้ำใช้ที่ใช้อุปโภค บริโภคอยู่ทุกวันนี้ เชื้อโรคที่ปนเปื้อนของมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อปรสิต โดยเฉพาะ โปรโตซัว ซึ่งเป็นปรสิตเซลล์เดียว อย่างเจ้า “อะแคนทามีบา” ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดำรงชีวิตเป็นอิสระในธรรมชาติตามแหล่งน้ำ ดิน โคลนเลน เชื้อจะเคลื่อนที่ช้า ๆ ด้วยเท้าเทียมที่มีลักษณะคล้ายหนาม

  อะแคนทามีบา มีช่วงชีวิต 2 แบบ คือ แบบที่ 1 “ซีสต์” มีขนาด 10-25 ไมครอน เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มันจะฝังตัวอยู่นิ่ง ๆ รอเวลาเปลี่ยนรูปร่างกลายเป็นแบบที่ 2 “โทรโฟซอยต์” ซึ่งมีขนาด 15-45 ไมครอน ทั้งยังสามารถทนทานอยู่ได้นานในสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ เช่น หนาวจัด ร้อนจัด แห้งแล้ง ขาดอาหาร และในสระว่ายน้ำที่ใส่คลอรีน หรือแม้แต่ในบ่อน้ำร้อน เพราะปรสิตตัวนี้ ในระยะติดต่อ จะมีความทนทานได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยแบบที่ 2 สามารถเคลื่อนไหว และก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงในคนได้

      การติดเชื้อจาก อะแคนทามีบานั้น อาจขึ้นอยู่กับบางปัจจัย เช่น กระจกตาของผู้สัมผัสเชื้อเป็นแผล แม้เพียงแผลเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็น (micro trauma) แต่เมื่ออะคันธามีบา สัมผัสได้ว่ามีแผลอยู่ ก็พร้อมที่จะเล็ดลอดเข้าไป ส่วนใหญ่แผลอาจเกิดจากการใส่คอนแทคเลนส์ หรือปัจจัยอื่นที่เกิดขึ้นบนกระจกตา ซึ่งทำให้เกิดอาการตาแดง เคืองตา ตามัว กลัวแสง และปวดตาอย่างมาก และยังสามารถติดต่อได้ในช่วงที่ภูมิต้านทานต่ำ มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

      เมื่อสัมผัสเชื้อ “อะแคนทามีบา” จากการติดต่อเข้าสู่ร่างกายผ่านแผลที่ผิวหนังและการหายใจ เชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง กระดูก ได้ และแม้ว่ากระบวนการผลิตน้ำประปาจะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และไวรัสด้วยคลอรีนได้ แต่เชื้อปรสิตเหล่านี้ จะตายที่อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นตรวจสอบว่า น้ำเก็บ น้ำใช้ นั้น มีคลอรีนที่มีความเข้มข้นพอหรือไม่ สำหรับผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ ควรทำความสะอาดเลนส์ด้วยน้ำยาที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว และไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ ขณะว่ายน้ำหรือเล่นน้ำ หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ไม่ควรเดินลุยในแหล่งน้ำขัง เพื่อป้องกันปรสิตเข้าสู่ร่างกาย

 

 

P.S. FYI – For Your Information

เผยแพร่ : ณาดาร์ หมื่นชล
(เจ้าหน้าที่พัฒนาและบริหารจัดการสารสนเทศ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
Tiktok : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society

แหล่งที่มา

อัญชลี วรรณสาร

เจ้าของข้อมูล: 
อัญชลี วรรณสาร
Hits 966 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: