เตียงนอนมนุษย์ถ้ำเก่าแก่ที่สุดในโลก 2 แสนปี ทำจากหญ้ากับเถ้าถ่าน
นักโบราณคดีค้นพบซากวัสดุซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นเตียงนอนของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ถ้ำบอร์เดอร์ (Border cave) ในจังหวัดควาซูลู-นาทัล (KwaZulu-Natal) ของประเทศแอฟริกาใต้ โดยซากเตียงที่หลงเหลือในชั้นดินเก่าแก่ที่สุดที่ขุดพบมีอายุระหว่าง 183,000 - 227,000 ปี
ถ้ำดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีร่องรอยการเข้าไปตั้งถิ่นฐานและทิ้งร้างไปเป็นช่วง ๆ ทำให้ทีมนักโบราณคดีสามารถขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้และร่องรอยของการดำรงชีวิตอื่น ๆ ได้จากหลายยุคสมัย ซึ่งสภาพอากาศที่ค่อนข้างแห้งทำให้โบราณวัตถุเหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้ได้เป็นอย่างดี ในชั้นดินที่ระดับความลึกต่าง ๆ กัน
ซากของเตียงนอนหลายหลังที่พบทำจากพืชหลากชนิด รวมถึงหญ้ากินี (Guinea grass) หรือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pacinum Maximum ซึ่งยังคงมีขึ้นอยู่ตามธรรมชาติที่ด้านหน้าของถ้ำในปัจจุบัน
ซากเตียงบางหลังอยู่บนกองเถ้าถ่านที่ได้จากการเผาไม้ โดยในบางครั้งพบว่าเป็นเถ้าถ่านจากไม้การบูร (Camphor) ซึ่งแสดงว่ามนุษย์ถ้ำใช้วิธีเผาไม้หอมให้เกิดควัน และนำเถ้าถ่านที่ได้มารองใต้เตียง เพื่อป้องกันแมลงที่จะเข้ามารบกวนยามหลับใหล
ซากเตียงยุคก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ มักถูกพบอยู่บริเวณด้านในของถ้ำใกล้กับกองไฟ ขอบของเตียงบางหลังก็มีร่องรอยถูกไฟไหม้ด้วย นอกจากนี้ยังพบเศษผงดินเหลืองหรือดินแดงที่ใช้ทาตัวตกอยู่บนซากเตียง รวมทั้งพบเศษหินซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีการนั่งบนเตียงระหว่างทำเครื่องมือหินไว้ใช้สอย
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ลิน วาดลีย์ ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิตวอเทอร์สแรนด์ของแอฟริกาใต้ บอกว่าอายุของซากเตียงนี้มีความเก่าแก่พอ ๆ กับกำเนิดของมนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์ ซึ่งทีมวิจัยยังไม่แน่ใจว่า มนุษย์ถ้ำที่สร้างและใช้เตียงนี้เป็นมนุษย์ยุคใหม่ หรือว่าเป็นบรรพบุรุษมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นอย่างเช่นโฮโมนาเลดี (Homo naledi) กันแน่
เมื่อปี 2011 เคยมีรายงานการค้นพบซากของฟูกหรือเตียงนอนอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกมาแล้วที่ถ้ำซิบูดู (Sibudu cave)ในจังหวัดควาซูลู-นาทัลเช่นเดียวกัน โดยเตียงนี้มีอายุเก่าแก่ 77,000 ปี ทำจากวัสดุจำพวกต้นกกหรือต้นอ้อ และมีการใช้พืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติไล่แมลงปูทับที่ชั้นบนสุดของเตียงด้วย