การติดสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ต่างอะไรกับการติดยาเสพติด

วันที่เผยแพร่: 
Thu 24 January 2019

คณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนและมหาวิทยาลัยโมนาชในประเทศออสเตรเลีย พบว่า ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากๆ มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจทำอะไรที่เสี่ยงอันตรายแบบที่มักจะพบเห็นกันในผู้ที่ติดยาเสพติด

Dar Meshi ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า ราวหนึ่งในสามของมนุษย์บนโลกใบนี้ต่างใช้สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งบางคนก็ใช้ไปในทางที่ไม่เหมาะสมและใช้มากจนเกินไป และเขาหวังว่าการค้นพบนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีอาสาสมัคร 71 คนเข้าร่วมทำแบบทดสอบ Iowa Gambling Task ซึ่งใช้ในการวัดความสามารถในการตัดสินใจ ทั้งในผู้ที่ติดยาเสพติดและในคนทั่วๆ ไป

อาจารย์ Dar Meshi บอกว่า ผู้ที่ติดยาเสพติดมักจะมีปัญหาในเรื่องของการตัดสินใจที่ผิดพลาด ในบางครั้งพวกเขาไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองได้ และยังคงทำในสิ่งที่ผิดๆ อยู่ต่อไป

ในตอนท้ายของการทำแบบทดสอบ นักวิจัยพบว่าผู้ที่เสพติดการใช้สื่อสังคมออนไลน์มักจะตัดสินใจทำอะไรเสี่ยงๆ มากขึ้น แม้จะทราบว่าจะเกิดผลเสียตามมาก็ตาม เช่นเดียวกันกับผู้ที่ติดยาเสพติด

นอกจากนี้ ในกลุ่มตัวอย่าง ยังยอมรับว่าพวกเขาคิดถึงแต่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้ใช้อยู่ก็ตาม และพวกเขาไม่ได้นอนหลับเพียงพอเพื่อใช้เวลาในสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย

Dar Meshi กล่าวส่งท้ายว่าเขาเชื่อว่าสื่อสังคมออนไลน์นั้นมีประโยชน์อย่างใหญ่หลวง แต่ก็มีด้านมืดถ้าหากผู้ใช้ไม่สามารถถอนตัวเองออกมาได้ ดังนั้นนักวิจัยจึงเป็นต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ดีขึ้นเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์มากเกินไปนั้นควรจะถือว่าเป็นการเสพติดหรือไม่

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B9%8C-%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94
Hits 253 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: