ความสมดุลกับปริมาณน้ำในร่างกายมนุษย์

วันที่เผยแพร่: 
Mon 3 May 2021

น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญและจำเป็นของเซลล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเซลล์พืช เซลล์สัตว์ และเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ทุกเซลล์ล้วนประกอบด้วยน้ำทั้งสิ้น นอกจากนี้น้ำยังช่วยปรับสมดุลรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ ช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยให้เรามีสมาธิ มีสุขภาพดีขึ้นอีกด้วย เรามาดูการรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายกันได้ในบทความนี้

ทำไมเราจึงต้องปรับปริมาณน้ำในร่างกายให้สมดุล นั่นก็เพราะว่าน้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญภายในร่างกายของเรา มนุษย์มีปริมาณน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณร้อยละ 70 โดยที่น้ำในเลือดมีปริมาณถึงร้อยละ 92 ในสมองมีปริมาณน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 85 ซึ่งในแต่ละเซลล์ในร่างกายจะมีปริมาณน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 60 และในไขมันในร่างกายสามารถเก็บสะสมน้ำได้ถึงร้อยละ 10 แต่ในกล้ามเนื้อเก็บสะสมน้ำได้มากถึงร้อยละ 75

วิธีการที่จะช่วยรักษาสมดุลของของเหลวภายในร่างกาย ให้มีระดับคงที่อยู่ได้ อาจมีได้หลายวิธี ซึ่งอาจแตกต่างกันไป ในสิ่งที่มีชีวิตแต่ละชนิด ส่วนในมนุษย์นั้นจะพบว่า ไตที่ทำหน้าที่ช่วยกำจัดสารที่ร่างกายไม่ต้องการออกมาได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีต่อมเหงื่อ ช่วยกำจัดของเสียออกมาทางผิวหนังได้อีกด้วย ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการหายใจ จะถูกปอดขับสู่ภายนอก โดยออกมากับลมหายใจออก เวลาที่ร่างกายขาดน้ำ เช่น ขณะออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก หรืออยู่ในที่ร้อน และแห้งแล้ง จะทำให้เรามีความรู้สึกกระหายน้ำมาก เพราะร่างกายสูญเสียน้ำออกไปเยอะ โดยขับออกมาเป็นเหงื่อ การดื่มน้ำ จะช่วยทำให้ความเข้มข้นของของเหลวภายในร่างกายกลับคืนสู่สภาวะสมดุลได้เป็นปกติ และน้ำที่ดื่มนั้นควรเป็นน้ำประปา หรือน้ำฝน เพราะมีเกลือแร่ต่างๆ ละลายอยู่น้อยมาก ทำให้ร่างกายกลับคืนสภาวะปกติได้ ถ้าดื่มน้ำที่มีเกลือแร่ละลายอยู่มากๆ เช่น น้ำทะเล ร่างกายต้องกำจัดเกลือแร่ที่มากเกินต้องการออกทางปัสสาวะ และในการกำจัดนี้ จะมีการดึงเอาน้ำภายในร่างกายติดตามออกไปด้วย ทำให้ร่างกายกลับเสียน้ำมากยิ่งขึ้น ทหารที่อยู่ในสนามรบ หรือผู้ที่เดินทางไปในทะเลเป็นเวลานานๆ หรือมนุษย์อวกาศ จำเป็นจะต้องเตรียมน้ำดื่มติดตัวไปให้เพียงพอ เพราะน้ำ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ร่างกายจะขาดเสียมิได้ ผู้ป่วยซึ่งท้องเดินอย่างแรง เช่น เป็นอหิวาตกโรค หรือไข้รากสาด ร่างกายจะเสียน้ำออกมาทางอุจจาระ มากเกินกว่าปกติ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยง่าย ในการรักษา แพทย์จะฉีดน้ำเกลือประมาณ ๐.๘๕ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสารละลาย ที่มีความเข้มข้นใกล้เคียงกับของเหลวในเลือดเข้าเส้นเลือดอย่างช้าๆ เพื่อช่วยให้คนไข้ได้รับน้ำชดเชยกับที่เสียไป ทำให้สามารถรอดชีวิตอยู่ได้ ก่อนที่จะให้ยา เพื่อรักษาโรคต่อไป คนไข้ซึ่งได้รับอุบัติเหตุเสียเลือดมากๆ เช่นเดียวกัน ถ้าไม่สามารถห้ามเลือดให้หยุดไหลได้ทันท่วงทีแล้ว ถึงแม้ว่า จะเป็นบาดแผลในบริเวณที่ไม่สำคัญ ก็อาจเสียชีวิตได้โดยง่าย ดังนั้น ในการปฐมพยาบาลผู้ป่วย ซึ่งเสียเลือด จึงต้องห้ามเลือดเสียก่อน จึงนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้เลือดทดแทนเลือดที่สูญเสียไป

ปริมาณน้ำที่ร่างกายได้รับและที่ขับถ่ายออกจากร่างกายในแต่ละวันจะอยู่ในภาวะสมดุลได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่

อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ถ้าอุณหภูมิรอบตัวเรายิ่งสูงมากกว่าอุณหภูมิปกติของร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายเราพยายามขับเหงื่อออกมา ทำให้น้ำระเหยออกทางผิวหนังได้มากขึ้น ร่างกายจะสูญเสียน้ำมากขึ้น

ความชื้นสัมพัทธ์ของบรรยากาศ ถ้าอากาศรอบๆ ตัวเรามีความชื้นสัมพัทธ์ที่ต่ำ อากาศแห้ง หรือมีลมพัดแรง จะสูญเสียน้ำออกทางผิวหนังมากกว่าอากาศปกติ เช่น ในฤดูหนาวผิวจะแห้งเนื่องจากอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ

ถ้าเราออกกำลังกายมากๆ ร่างกายจะสูญเสียน้ำทางผิวหนังและทางลมหายใจมากขึ้น เช่น นักกีฬาที่เสียเหงื่อมาก ร่างกายจะสูญเสียทั้งน้ำและไอออน โดยเฉพาะไอออนที่อยู่ในของเหลวภายนอกเซลล์ เช่น โซเดียมไอออน ดังนั้นจึงต้องกินเข้าไปทดแทนให้เพียงพอ เช่น การดื่มน้ำเกลือแร่

ส่วนประกอบของอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ถ้าอาหารที่กินเข้าไปมีน้ำมาก ร่างกายจะได้รับน้ำมาก เช่น การกินข้าวต้มแทนข้าวสวย

ดังที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่า น้ำนั้นมีความสำคัญกับร่างกายเป็นอย่างยิ่ง เพราะร่างกายของคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบกว่า 70% จึงถือเป็นองค์ประกอบหลักในเซลล์และช่วยหล่อเลี้ยงเซลล์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้น้ำยังช่วยนำพาสารอาหาร เข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย น้ำช่วยรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย รวมถึงช่วยระบายของเสียออกจากเซลล์และระบายความร้อนออกจากร่างกายขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-science/item/11494-2020-04-21-08-18-22

Boundless Anatomy and Physiology. Water Balance. Retrieved April 1, 2020, from https://courses.lumenlearning.com/boundless-ap/chapter/water-balance/

Leonard G. Rowntree. (2009, 3 Nov). THE WATER BALANCE OF THE BODY. Retrieved April 1, 2020, from https://journals.physiology.org/doi/abs/10.1152/physrev.1922.2.1.116?jou...

noun. water balance. : a review. Retrieved March 30, 2020, from https://www.merriam-webster.com/dictionary/water%20balance

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C
Hits 614 ครั้ง