ทำไมบางคนถึงชอบเรอ

วันที่เผยแพร่: 
Tue 11 January 2022

   ทุกคนเคยหรือไม่ที่รับประทานอาหารอยู่ดีๆ ก็มีอาการอยากจะเรอขึ้นมา หรือมีเพื่อนในกลุ่มที่ชอบเรอออกมาเสียงดังตลอดทุกครั้ง อาการเรอมีสาเหตุมาจากอะไร แล้วเราสามารถบังคับไม่ให้เกิดการเรอเสียงดังต่อหน้าคนอื่นได้หรือไม่
  อาการเรอ (Belching)เป็นปฏิกิริยาอย่างหนึ่งของร่างกาย เกิดขึ้นเมื่อมีลมอยู่ในระบบทางเดินอาหารช่วงต้น ๆ ร่างกายจึงขับลมออกมาทางปาก นอกจากจะมีลมแล้วยังมีเสียงตามมาอีกด้วย ซึ่งเกิดจากการที่หูรูดของหลอดอาหารมีการสั่นนั่นเอง และยังมาพร้อมกับกลิ่นของอาหารที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารที่เราเพิ่งรับประทานไปตอนนั้นอีกด้วย โดยอาการเรอมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีลมอยู่ในกระเพาะมากเกินไปจนส่งผลให้กระเพาะอาหารพองตัว ดังนั้น ร่างกายจึงขับเอาลมนั้นออกมา เพื่อลดการพองตัวของกระเพาะอาหาร แถมยังช่วยผ่อนคลายความแน่นและความอึดอัดลงได้ ทำให้รู้สึกสบายท้องมากขึ้น

   บางคนอาจจะมีอาการที่ชอบเรอบ่อย ๆ ซึ่งนั่นหมายความว่าในกระเพาะอาหารของคุณนั้นมีลมอยู่มากกว่าปกติ และการที่มีลมอยู่มากกว่าปกติมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยสิ่งที่เรามักจะสังเกตได้ง่าย คือ การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแก๊สอยู่มาก เช่น น้ำอัดลม อย่างไรก็ตาม อาการเรอไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อตอนมีลมมากกว่าปกติเท่านั้น แต่อาจจะมาจากอาการไม่สบายท้องที่มีมาจากสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่

1. การกลืนลม ทั้งแบบที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มเร็วเกินไป ดื่มน้ำจากหลอดดูด สูบบุหรี่ เด็กอ่อนดูดนมแม่ หายใจลึกหรือเร็วกว่าปกติ
2. การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น น้ำอัดลม อาหารไฟเบอร์สูง ถั่วต่าง ๆ หัวหอม ต้นหอม ผักตระกูลกะหล่ำ
3. มีกรดในกระเพาะอาหารมาก เช่น ดื่มกาแฟ มีอาหารตกค้างมากเกินไป ความเครียด
4. การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาระบาย ยาบรรเทาอาการปวด ยาอะคาร์โบส (รักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2)
5. มีโรคประจำที่ส่งผลต่อการเรอ เช่น กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารอักเสบ การติดเชื้อในกระเพาะอาหาร

   โดยปกติอาการเรอเป็นเพียงกลไกหนึ่งของร่างกายที่ช่วยในการขับลมในกระเพาะออกมา บางคนรับประทานอาหารบางประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อาจจะไม่มีอาการเรอก็ได้แล้วแต่บุคคล ซึ่งสามารถหายไปได้เองไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ถ้าใครที่พบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเรอบ่อยและมากกว่าปกติ และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป หรือท้องอืดหลังอาหารเป็นประจำและมีอาการปวดท้อง เจ็บหน้าอก ควรรีบไปปรึกษากับแพทย์ทันที

แหล่งที่มา 
https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/74058/-scihea-sci-

 

   

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%AD
Hits 572 ครั้ง
คำสำคัญ: