ที่มาของพลาสเตอร์ปิดแผล

วันที่เผยแพร่: 
Wed 20 October 2021

มันเริ่มจากการทำแผลที่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย และหากคุณต้องทำมันซ้ำ ๆ เป็นเวลาหลายครั้งต่อวัน หลายวันต่อสัปดาห์ การตระเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมคงไม่ใช่เรื่องง่ายและการทำก็เช่นกัน หากคุณอยู่ในยุคที่ต้องพกผ้าก็อต ยาน้ำ อุปกรณ์ทำความสะอาด กรรไกร การกลัดหรือติดให้ผ้าพันแผลติดกันไม่หลุดระหว่างวัน แต่ก็ต้องไม่แน่นเกินไปจนระบายอากาศไม่ได้ หรือรัดจนเลือดไม่สามารถไหลไปได้ทั่วถึงทำให้แผลสมานช้า สิ่งทั้งหลายที่กล่าวมาในข้างต้นเคยเกิดขึ้นในอดีต และเราต้องขอบคุณ เอิร์ล ดิกสัน ที่ทำให้เราไม่ต้องไปกังวลและปวดหัวกับขั้นตอนเหล่านั้นอีกต่อไป

มันเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1920 คู่แต่งงานข้าวใหม่ปลามัน ซึ่งเอิร์ล ดิกสันผู้เป็นสามีทำงานอยู่บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนภรรยาของเขา โจซิฟิน ดิกสัน เป็นแม่บ้านมือใหม่ ด้วยความมือใหม่นี้เองที่ทำให้ภรรยาของเขาต้องเจ็บตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เป็นประจำ และเอิร์ลก็คอยดูแลอยู่ไม่ห่าง การทำแผลเป็นประจำทุกวันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยความคิดที่จะช่วยประหยัดเวลาในการทำแผลที่เขาต้องทำทุกวัน ทำให้เขาลองเอาผ้าก็อตไปวางไว้บนเทปกาว และนั่นทำให้เขาสามารถพันแผลด้วยผ้าก็อตได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำพลาสเตอร์ปิดแผล เขานำไอเดียนี้ไปเสนอต่อนายจ้าง และเมื่อนายจ้างเห็นว่าแนวคิดนี้จะสามารถแก้ปัญหาพื้นฐานได้โดยง่าย ในตอนนั้นบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเองก็เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทำแผลชั้นนำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผ้าก็อตหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งได้รับการฆ่าเชื้ออย่างดี ดังนั้น การเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่อาจจะเปลี่ยนชีวิตคนเข้ามาจึงเป็นเรื่องที่น่าท้าทายอย่างยิ่ง ดังนั้นการผลิตพลาสเตอร์ยาออกสู่ตลาดจึงเริ่มขึ้น

พลาสเตอร์ปิดแผลเริ่มต้นที่ขนาดกว้าง 3 นิ้วและยาว 18 นิ้ว แม้ในตอนแรกจะไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่การปรับปรุงขนาดและการใช้งานของมัน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ที่ดี ให้เห็นถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ ทำให้มันเป็นที่นิยมในเวลาต่อมาในชื่อ band-aid ทุกคนต่างรอวันนี้วันที่พลาสเตอร์ปิดแผลเป็นคำตอบของการทำแผลทั้งปวงที่แท้จริง เพราะมันช่วยประหยัดเวลา และสะดวกในการใช้งานแม้จะทำด้วยตัวเองก็ตาม หลังจากนั้นพลาสเตอร์ปิดแผลมีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านขนาด ชนิดของเทปกาว ยาที่ใช้ ผิวสัมผัสผ้าก็อตที่ได้รับการปรับปรุง หรือแม้แต่บรรจุภัณฑ์ที่มีการฆ่าเชื้อให้สามารถใช้และสัมผัสกับแผลได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ในปัจจุบันเรามีพลาสเตอร์ปิดแผลหลากหลายขนาด เหมาะกับบริเวณและรูปร่างต่าง ๆ ของแผล ไม่ว่าจะเล็กใหญ่ กลม เหลี่ยม หรือว่าเป็นแถบ ตัวเทปกาวเองก็ผลิตออกมาจากหลายวัสดุเช่นผ้าที่มีความยืดหยุ่นสูงและติดแน่นกว่าแบบพลาสติกบาง พลาสติกแบบใส หรือแม้แต่เป็นแผ่นฟิล์ม ลวดลายของเทปก็มีหลายสีหลากลวดลายที่ทำให้ไม่ต้องเคอะเขินเวลาปิด ไปจนถึงทำให้เด่นเป็นกระแสแฟชั่นต่าง ๆ

แม้พลาสเตอร์จะสะดวกกว่าการทำแผลด้วยผ้าก็อต ทายาและปิดแผลด้วยคลิปหรือเทปแบบก่อน แต่ก็จำเป็นต้องเลือกพลาสเตอร์ที่ดีเหมาะสมกับการใช้งาน มันจะต้องไม่ระคายเคืองผิวต่อผู้ใช้ ไม่ทำให้แผลอักเสบ และผ้าก็อตอ่อนนุ่มดูดซับน้ำเหลืองจากแผลได้ดี และต้องได้รับการฆ่าเชื้ออย่างสะอาดไม่ปนเปื้อน แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับการใช้พลาสเตอร์และรู้สึกเหมือนมีส่วนเกินออกมาจากร่างกาย หรือไม่สะดวกเพราะว่าบริเวณที่เป็นแผลต้องสัมผัสกับน้ำหรือความชื้นอยู่บ่อยครั้ง หรือเป็นบริเวณที่ต้องขยับอยู่เสมอ พลาสเตอร์ปิดแผลชนิดยาทา ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

แหล่งที่มา : https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/89592/-scihea-sci-

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%A5
Hits 1,036 ครั้ง