นักวิทยาศาสตร์ไขปริศนา “วงแหวนนางฟ้า” ได้สำเร็จ ?

วันที่เผยแพร่: 
Wed 1 February 2023

       วงแหวนนางฟ้า (fairy circles) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติน่าตื่นตาในทะเลทรายประเทศนามิเบียที่เหล่านักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาต้นกำเนิดมานานหลายสิบปี แต่ล่าสุดมีผู้เสนอทฤษฎีใหม่ที่อาจช่วยไขปริศนาของธรรมชาติอันน่าทึ่งนี้ 

       วงแหวนนางฟ้ามีลักษณะเป็นพื้นดินวงกลมอันว่างเปล่าที่มีต้นหญ้าขึ้นล้อมรอบ แต่ละวงอาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดตั้งแต่ 2-15 เมตร มักพบอยู่ตามทุ่งหญ้าเขตทะเลทรายนามิบทางภาคตะวันตกของนามิเบีย ซึ่งถือเป็นบริเวณแห้งแล้งที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังพบบางส่วนอยู่ทางตอนใต้ของแองโกลา และทางภาคเหนือของประเทศแอฟริกาใต้ 

      การที่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าวงแหวนนางฟ้าเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำให้มีความเชื่อแปลกประหลาดมากมายเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดวงแหวนเหล่านี้ เช่น บางคนเชื่อว่านี่คือผลงานของมนุษย์ต่างดาว เกิดจากฝนดาวตก มังกรไฟ หรือการที่นางฟ้าลงมาเต้นระบำเป็นวงกลม 

       ส่วนทฤษฎีในเชิงวิทยาศาสตร์นั้น มีผู้เสนอแนวคิดว่าวงแหวนนางฟ้าอาจเกิดจากการที่ปลวกกัดกินรากพืช หรือเป็นการแย่งชิงน้ำระหว่างพืชชนิดต่าง ๆ ในแถบนั้น
ดร.สเตฟาน เกตซิน นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยเกิตทิงเงนในเยอรมนีได้ศึกษาเรื่องวงแหวนนางฟ้ามาตั้งแต่ปี 2000 และพบว่าข้อสันนิษฐานเรื่องปลวกกันกินรากพืชนั้นไม่น่าเป็นความจริง เพราะจากการศึกษารากต้นหญ้าไม่พบหลักฐานว่าถูกปลวกกัดกิน 

       ดร.เกตซิน จึงเสนอทฤษฎีใหม่ว่า วงกลมปริศนาที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ามีน้ำไม่เพียงพอสำหรับพืชจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่แถบนั้น 
เขาอธิบายว่า “มันเป็นเพียงความแห้งแล้งของพืชที่เหี่ยวแห้งและขาดน้ำ...แท้จริงแล้ว ต้นหญ้าดึงน้ำจากด้านในวงกลม โดยปันน้ำดังกล่าวด้วยการดูดน้ำเข้าสู่ราก ทำให้ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไป เหมือนการทำงานของวิศวกรระบบนิเวศ” 

นักนิเวศวิทยาผู้นี้ชี้ว่า ทฤษฎีใหม่นี้ช่วยอธิบายวิธีที่พืชปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศอันแห้งแล้ง 

“ความสามารถนี้เป็นสิ่งสำคัญในอนาคต เพราะเราต้องเผชิญความแห้งแล้งเพิ่มขึ้นในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ และพืชจะต้องปรับตัวมากขึ้นภับภาวะขาดแคลนน้ำที่รุนแรงขึ้น” 
“วงแหวนนางฟ้าเป็นตัวอย่างของการกักเก็บน้ำสำหรับพืชในแถบนี้” ดร.เกตซิน กล่าว

เผยแพร่ : ว่าที่ร้อยตรีณภัทร โพธิ์อยู่
(เจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
instagram : stkcsociety

แหล่งที่มา
https://www.bbc.com/thai/articles/cx832272j1xo

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B8%B2-%E2%80%9C%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E2%80%9D-%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%88
Hits 367 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: