ปัญหาการใช้เทคโนโลยีเพิ่มระดับความเครียดให้กับพนักงาน

วันที่เผยแพร่: 
Thu 21 January 2021

การศึกษาชิ้นล่าสุด พบความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีที่สร้างปัญหาให้กับผู้ใช้ กับระดับความเครียดที่เพิ่มขึ้นในพนักงาน ซึ่งเป็นแนวทางในการปรับปรุงระบบการทำงานที่เพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นในอนาคต

เมื่อไหร่ก็ตามที่คอมพิวเตอร์มีปัญหา อินเตอร์เน็ตช้า ระบบล่ม แล้วทำให้คุณเกิดความเครียดสุดขีด คุณไม่ได้เผชิญกับภาวะนี้เพียงลำพัง เพราะการศึกษาชิ้นล่าสุดจากบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ Dell Technologies ร่วมกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา EMOTIV ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีที่สร้างปัญหาให้กับผู้ใช้ กับระดับความเครียดที่พนักงานต่างต้องเผชิญ

ทีมวิจัยในการศึกษาชิ้นนี้ ศึกษาคลื่นสมองของผู้คน ที่มีประสบการณ์หรือเผชิญกับ bad technology หรือเทคโนโลยีที่สร้างปัญหาให้กับผู้ใช้ โดยผู้ที่อยู่ในการศึกษานี้อยู่ในวัยทำงาน หลากหลายช่วงอายุ และมีทักษะด้านคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันไป

คำจำกัดความของ เทคโนโลยีที่สร้างปัญหาให้กับผู้ใช้ หรือ bad technology ครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาการเข้าใช้คอมพิวเตอร์เล็กๆน้อยๆ ระบบอินเตอร์เน็ตที่ขัดข้อง ปัญหาที่โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ หรืออาจร้ายแรงถึงระดับไวรัส มัลแวร์ แรนซัมแวร์ หรือการจารกรรมข้อมูลส่วนตัวจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

ทีมวิจัยให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบรับมือกับปัญหาการใช้คอมพิวเตอร์หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ปัญหาพื้นฐาน เช่นการลงชื่อเข้าใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนผู้ทดสอบรายอื่นๆ อาจต้องเจอกับปัญหาอินเตอร์เน็ตช้า หรือปัญหาระบบล่ม

โอลิวิเอร์ ออลลิเยร์ ประธานบริษัท EMOTIV เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ทันทีที่ผู้คนเจอกับปัญหาด้านเทคโนโลยี ระดับความเครียดของพวกเขาพุ่งสูงขึ้นเท่าตัวในทันที ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก เพราะปกติแล้วเราแทบไม่มีโอกาสเห็นระดับความเครียดพุ่งพรวดเช่นนั้น

การศึกษาครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า ความเครียดที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี ให้ผลต่อเนื่องยาวนานเสียด้วย ในมุมมองของออลลิเยร์ที่บอกว่า ผู้คนที่เจอกับปัญหาเหล่านี้มักจะใจเย็นลงได้ยากและใช้เวลานานกว่าปกติ

นอกจากนี้ ความล้มเหลวด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยหรือหนักหนา ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพนักงานทั้งสิ้น และอาจส่งผลกระทบต่อองค์กรได้อีกทอดหนึ่ง

ปัญหาด้านเทคโนโลยีอาจลดประสิทธิภาพในการทำงาน ในการวิจัยครั้งนี้ พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ปัญหาด้านเทคโนโลยีต่างๆ กระทบกับประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานได้มากถึง 30% โดยเฉพาะกับพนักงานอายุน้อย เพราะพบว่า ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานลดลงถึง 30% ในกลุ่มพนักงานที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่เผชิญกับปัญหาขัดข้องทางเทคนิคเหล่านี้

ซิล มอนโกเมอรี หัวหน้าฝ่าย Customer Experience ของ Dell Technologies บอกว่า ประสบการณ์ที่เลวร้ายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีกระทบกับคนทุกระดับทักษะด้านคอมพิวเตอร์ แต่คนหนุ่มสาวจะรู้สึกได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะพวกเขา “คาดหวัง” ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพพอ

ประธานบริษัท EMOTIV เพิ่มเติมว่า ผลกระทบจากความเครียดเรื่องเทคโนโลยีที่สร้างปัญหาให้กับผู้ใช้ จะรุนแรงขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง เนื่องจากว่า ในการศึกษาครั้งนี้ผู้ทดสอบทั้งหมดทราบดีว่าพวกเขาจะต้องเจอกับปัญหาด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้พวกเขาไม่ได้รู้สึกกระทบกระเทือนอะไรมากนัก

ออลลิเยร์ มองว่า ตอนนี้วิกฤตการระบาดของโคโรนาไวรัส โควิด-19 ที่ดำเนินไปทั่วโลก ได้ทำให้ระดับความเครียดของผู้คนพุ่งสูงขึ้นอยู่แล้ว ปัญหาด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ยิ่งเข้าไปเพิ่มระดับความเครียดให้ผู้คนเข้าไปอีก จากที่ผู้คนนับล้านทั่วโลกต้องทำงานจากที่บ้าน โอกาสที่จะมีปัญหาด้านเทคโนโลยีก็เพิ่มขึ้น เพราะปกติแล้วการทำงานในออฟฟิส จะมีทีมช่วยเหลือด้านคอมพิวเตอร์พร้อมยื่นมือช่วยแก้ปัญหาให้พนักงานในที่ทำงาน แต่การทำงานจากบ้าน ที่เนรมิตห้องครัว ห้องนั่งเล่น หรือห้องนอนเป็นออฟฟิสส่วนตัว ทำให้พนักงานต้องรับมือเรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง

ออลลิเยร์ เพิ่มเติมว่า เมื่อผู้คนต้องทำงานอยู่กับบ้าน และสิ่งที่พวกเขามีอยู่คือคอมพิวเตอร์พกพาจากที่ทำงาน แต่พวกเขาไม่อาจเข้าถึงทีมช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีได้โดยตรง ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่ช่วยทำงานทางไกลให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ คำแนะนำจากทีมวิจัยที่ศึกษาด้านปัญหาเทคโนโลยีซึ่งส่งผลต่อความเครียดของพนักงาน ระบุว่า พนักงานจะมีผลิตผลจากการทำงานได้เพิ่มขึ้นต่อวันราว 37% หากมีระบบเทคโนโลยีรองรับการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงระบบปฏิบัติการ ซอฟต์แวร์ และทีมช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีที่คอยหนุนหลังตลอดการทำงาน นอกจากนี้ ยังพบว่า การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจะช่วยประหยัดเวลาการทำงานของพนักงานได้ราว 23 นาทีต่อชั่วโมง

Cr. https://www.voathai.com/a/bad-tech-stress-and-productivity-01192021/5743...

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99
Hits 344 ครั้ง