ผลวิจัยพบ นิ้วที่เกินมาสามารถช่วยให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้คล่องแคล่วขึ้น

วันที่เผยแพร่: 
Thu 10 September 2020

ภาวะนิ้วเกิน (Polydactyl) ซึ่งคนเรามีนิ้วมือหรือนิ้วเท้างอกมาเกินจำนวนปกติ พบได้บ่อยครั้งในอัตรา 1 ในทุก 500 คน โดยเมื่อก่อนเชื่อกันว่า นิ้วที่ 6 หรือจำนวนนิ้วที่มากกว่านี้ไม่มีประโยชน์ ทั้งยังจะขัดขวางการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเสียด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์จากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (ICL) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications พบว่านิ้วที่เกินมาสามารถช่วยให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้คล่องแคล่วขึ้น โดยไม่เป็นภาระต่อกระดูกและกล้ามเนื้อของนิ้วปกติ ทั้งไม่สร้างความสับสนต่อการทำงานของสมองอย่างที่แพทย์เคยคาดการณ์ไว้

มีการติดตามศึกษาแม่วัย 52 ปีและลูกชายวัย 17 ปีคู่หนึ่ง ซึ่งมีนิ้วมือและนิ้วเท้าจำนวนข้างละ 6 นิ้วแต่กำเนิดทั้งสองคน โดยนิ้วที่เกินมางอกอยู่ระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้

ผู้วิจัยพบว่า สองแม่ลูกสามารถใช้มือทำงานต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนได้อย่างคล่องแคล่ว แม้แต่ผูกเชือกรองเท้าด้วยมือข้างเดียวก็ทำได้อย่างง่ายดาย พวกเขาสามารถพับกระดาษ พิมพ์ข้อความในโทรศัพท์มือถือ หรือเล่นวิดีโอเกมที่ออกแบบให้มีอุปสรรคขัดขวางเป็นพิเศษได้ดีกว่าคนทั่วไป

มีการสแกนสมองของสองแม่ลูกขณะทำงานที่ได้รับมอบหมาย พบว่าสมองทำงานหนักกว่าปกติ แต่ไม่ถึงระดับที่เป็นภาระหนักหรือสร้างความสับสนด้านการใช้ความคิด ทั้งยังพบว่าสมองได้พัฒนาส่วนควบคุมการใช้นิ้วที่ 6 ขึ้นมาโดยเฉพาะด้วย

ส่วนผลการวิเคราะห์โครงสร้างของนิ้วที่เกินมานั้น พบว่าประกอบด้วยกระดูกสามชิ้นเหมือนนิ้วทั่วไป มีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเป็นของตนเอง ทั้งยังเคลื่อนไหวแยกเป็นอิสระจากนิ้วอื่นได้คล้ายกับนิ้วโป้ง

แต่เดิมนั้นแพทย์ถือว่าการมีนิ้วเกินเป็นความพิการแต่กำเนิด และมักจะพิจารณาให้ตัดทิ้งหลังทารกที่มีนิ้วเกินคลอดออกมาได้ไม่นานนัก แต่ผลการศึกษาล่าสุดนี้อาจเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า แพทย์ควรจะรักษานิ้วเกินที่มีลักษณะสมบูรณ์แข็งแรงเอาไว้กับตัวทารกก่อน เพราะน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่นิ้วเกินมีลักษณะบกพร่องและเจริญเติบโตไม่ได้เต็มที่ เช่นมีขนาดเล็กเหมือนติ่งเนื้อหรืออ่อนแรง แพทย์อาจยังต้องพิจารณาตัดทิ้งอยู่เช่นเดิม โดยการผ่าตัดประเภทนี้นับว่ายุ่งยากซับซ้อนพอสมควร เพราะไม่สามารถตัดนิ้วที่เกินมาทิ้งไปเฉย ๆ แต่จะต้องปรับแต่งโครงสร้างของมือ ไม่ว่าจะเป็นกระดูก เส้นเอ็น หรือกล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กันทั้งหมดด้วย

Cr. https://www.bbc.com/thai/international-48646940

Hits 1,157 ครั้ง