ฝ่าวิกฤต โรค ภัย ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

วันที่เผยแพร่: 
Thu 20 May 2021

ในขณะที่โลกเพิ่งได้รู้จักกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่าง ไวรัสโคโรนา (COVID-19) และยังไม่ได้วางแผนในการรับมือ เชื้อไวรัสก็ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว สร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกอย่างมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้คนทั่วโลกไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ องค์กรและธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างมากมาย ทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และจุดเปลี่ยนนี้เองที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่สามารถช่วยเหลือเราในสภาวะที่ไม่ปกติเช่นนี้ได้ บทความนี้ผู้เขียนยกตัวอย่างสักเล็กน้อยมาดูกันว่า ประเทศกลุ่มแพร่ระบาดรวมถึงประเทศไทยมีเทคโนโลยีอะไรบ้าง ที่จะเข้ามาช่วยในการใช้ชีวิตที่ไม่ง่ายเลยในช่วงแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา (COVID-19) นี้ ติดตามกันได้เลย

แอปพลิเคชันตรวจวัดอุณหภูมิอัตโนมัติถูกติดตั้งไว้ตามรถไฟใต้ดิน สถานีรถไฟ สนามบิน และศูนย์บริการสังคม เพื่อระบุและติดตามบุคคลที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ และช่วยในการดำเนินการที่จำเป็น ระบบอัตโนมัตินี้มีประโยชน์อย่างมากในการคัดกรองบุคคลที่อาจติดเชื้อ (เช่น ระบบของ Megvii สามารถตรวจวัดได้ 300 คนต่อนาที และระบบของ SenseTime สามารถระบุตัวบุคคลที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย)

เพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัสที่ผ่านการสัมผัสโดยตรงในที่สาธารณะที่มีผู้คนสัญจรไปมาอย่างหนาแน่น เช่น ชุมชนที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล และสถานีรถไฟ Sugr Technology ได้พัฒนาสวิตช์ไฟฟ้าที่สั่งงานด้วยเสียง โดยใช้ชื่อว่า “sesame switch” สวิตช์ดังกล่าวสามารถตรวจจับเสียงพูดและรับรู้คำสั่งเสียงจากระยะไกล

คิวอาร์โค้ด (QR CODE)

ผู้บริหารเมืองใหญ่ของจีนกว่า 200 เมืองเปิดตัวบริการชั่วคราวสำหรับโค้ดด้านสุขภาพ (Health Code) ผ่านมินิโปรแกรมของอาลีเพย์ (Alipay) นอกเหนือจากแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น WeChat และเว็บท่า (Web portal) ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานควบคุมโรคระบาด หลังจากที่ผู้ใช้ผ่านการตรวจสอบ ระบบบริการโค้ดด้านสุขภาพจะขอให้ผู้ใช้กรอกแบบฟอร์มออนไลน์และรายงานข้อมูลเบื้องต้นด้วยตนเอง เช่น เมืองที่ผู้ใช้อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ผู้ใช้มีอาการที่เกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือไม่ ผู้ใช้เคยเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดในช่วง 14 วันที่ผ่านมาหรือไม่ จากนั้นบริการดังกล่าวจะให้คิวอาร์โค้ดที่เป็นสีแดง เหลือง หรือเขียวอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อระบุระดับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคคลดังกล่าว ในการผ่านจุดตรวจที่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตามสนามบินและสถานีรถไฟ ประชาชนจะต้องแสดงคิวอาร์โค้ดของตนเอง

หุ่นยนต์และโดรน

Keenon Robotics Co บริษัทสตาร์ทอัพในเซี่ยงไฮ้ที่เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ พบว่าผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ด้านบริการเชิงพาณิชย์ของบริษัทฯ ถูกใช้งานในโรงพยาบาลหลายแห่งในจีนเพื่อจัดการกับผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ได้รับการยืนยัน รวมถึงผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อ หุ่นยนต์ด้านบริการเหล่านี้ทำหน้าที่จัดส่งอาหาร ยา และสิ่งของไปยังแผนกที่ถูกแยกออกไป หลังจากได้รับคำสั่งจากผู้ควบคุมเครื่องที่อยู่ห่างไกล ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการป้องกันโรคระบาด เพราะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อจากการสัมผัส และลดความจำเป็นในการใช้บุคลากร

ยานพาหนะติดตั้งเครื่องถ่ายภาพซีทีแบบเคลื่อนที่จาก Ping An Health Inspection Center ช่วยให้ประชาชนในเมืองอู่ฮั่นสามารถรับการตรวจวินิจฉัยจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) นอกโรงพยาบาล ยานพาหนะดังกล่าวติดตั้งเครื่องซีทีสแกนสำหรับใช้ทั่วร่างกายและใช้การเชื่อมต่อ 5G โดยนับเป็นระบบเคลื่อนที่ระบบแรกที่ใช้เครื่องซีทีสแกนทั่วทั้งร่างกาย ทั้งนี้ CT นับเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากที่สุดสำหรับการตรวจวินิจฉัยไวรัสโคโรนา (COVID-19)

หลายๆ บริษัทของจีนใช้โดรน เพื่อทำการตรวจสอบการแพร่ระบาดโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวบุคคล ตัวอย่างเช่น Pudu Technology จากเสิ่นเจิ้นได้ติดตั้งอุปกรณ์โดรนไว้ในโรงพยาบาลกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ขณะเดียวกัน MicroMultiCopter ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทจากเสิ่นเจิ้น ใช้โดรนในการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และถ่ายภาพความร้อน

ประเทศไต้หวัน

รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวัน ซึ่งเป็นหญิงข้ามเพศและเคยเป็นแฮกเกอร์มาก่อน ทำงานร่วมกับทีมจากบริษัท Goodideas-Studio สร้างแผนที่ที่เรียกว่า ‘Instant Mask Map’ ขึ้นมา และมีการใช้งานที่ง่ายแสนง่าย โดยใช้ระบบแถบสีแสดงผลว่าจุดที่ปักไว้ในแผนที่มีหน้ากากอนามัยจำหน่ายหรือไม่ โดยสีเทาหมายถึงไม่มีหน้ากากเหลืออยู่เลย สีชมพูมีเพียง 20% หรือน้อยกว่านั้น สีเหลืองมี 20-50% สีเขียวมีมากกว่า 50% และสีฟ้าคือการแสดงผลทั้งหมด

ประเทศไทย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเอไอเอส พัฒนาหุ่นยนต์บริการทางการเแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อลดความเสี่ยง โดยนำมาใช้ติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยหุ่นยนต์ทางการแพทย์สร้างขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสและอยู่ใกล้ผู้ป่วย ด้วยการรักษาและให้คำปรึกษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicline เพื่อขยายขีดจำกัดให้สามารถดูแลรักษาและลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในเบื้องต้นมีการนำหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์มาใช้งานเพื่อเฝ้าระวังแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ที่โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 2 ชุดเป็นแบบตั้งโต๊ะ โรงพยาบาลทรวงอก จำนวน 1 ชุด เป็นแบบ mobile robot และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จำนวน 1 ชุด เป็นแบบตั้งโต๊ะ ซึ่งจะมีการพัฒนาโปรแกรมให้เสถียรและสามารถกระจายไปใช้ในโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไปได้
จากการแพร่ระบาดของเชื้อจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลกไม่เพียงเฉพาะในประเทศจีนที่เป็นประเทศต้นกำเนิดไวรัสชนิดนี้ ซึ่งทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบก็มีวิธีการรับมือที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างกันไปตามบริบทของประเทศตนเอง แต่อย่างไรก็ตามประเทศที่สามารถรับมือและคิดเทคโนโลยีใหม่ๆเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดประเทศนั้นย่อมได้เปรียบกว่าเสมอ

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-technology/item/11472-2020-04-21-07-14-01

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9D%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84-%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A5
Hits 233 ครั้ง