พริกสกัดสร้างประโยชน์...

วันที่เผยแพร่: 
Thu 23 September 2021

ในประเทศไทยนั้น พริกที่นิยมปลูกพริกกันเป็นส่วนใหญ่มีอยู่ 2 กลุ่มคือ พริกที่อยู่ในกลุ่มรสชาติไม่เผ็ดมากได้แก่ พริกหวาน พริกหยวก พริกชี้ฟ้า ซึ่งจัดเป็น และในกลุ่มของพริกที่เผ็ดได้แก่ พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูใหญ่ และพริกเหลือง นอกจากรสชาติเผ็ดที่ใช้ในการปรุงอาหารแล้ว พริกยังมีประโยชน์อีกมากเนื่องจากสามารถใช้ทานเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด ช่วยเจริญอาหาร นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยยังสามารถนำสารประกอบในพริกมาสกัดเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ได้อีกมากมาย

รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ดำเนินการวิจัยในโครงการ “ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อแก้ง่วงจากสารสกัดพริก” ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากปัญหาของการใช้สารกระตุ้นแก้ง่วงในกลุ่มคนผู้ใช้แรงงาน คนขับรถบรรทุก คนขับรถโดยสารสาธารณะ กลุ่มคนทำงานในสำนักงานหรือนักเรียนนักศึกษา ที่นิยมเครื่องดื่มประกอบด้วยคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือสารที่เป็นอันตรายรุนแรงอื่นๆ ซึ่งสารเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมทั้งชีวิตและทรัพย์สินในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานภายใต้ฤทธิ์ของสารกระตุ้นดังกล่าว

จากการศึกษาสมุนไพรไทยพบว่า ในผลพริกจะมีสารประกอบที่เรียกว่า แคปไซซินอยด์(Capsaicinoids) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ทำให้พริกมีรสชาติเผ็ด เมื่อให้ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ซึ่งจะส่งผลทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว ปลุกให้หายง่วงนอนได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

การวิจัยเริ่มต้นจากการสกัดสารแคปไซซินอยด์ในพริกอย่างพริกชี้ฟ้า พริกขี้หนูและพริกเหลือง ซึ่งเป็นพริกที่ให้รสชาติเผ็ดใช้แทนสารกระตุ้นที่ก่ออันตรายต่อสุขภาพ และเตรียมให้อยู่ในรูปแบบต่างๆที่สะดวกสำหรับการพกพา เช่น สเปรย์เพื่อใช้แก้ง่วง ที่มีส่วนผสมของสารสกัดพริกที่ให้ความเผ็ดและสารช่วยละลาย ออกฤทธิ์ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตของสูงขึ้นทันทีที่ฉีดพ่น ทำให้ตื่นตัวหายง่วงได้ ภายในเวลาประมาณครึ่งนาที

นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาสารสกัดจากพริกมาใช้แก้ง่วงในรูปแบบของ แผ่นฟิล์มแก้ง่วง ที่มีลักษณะเหมือนแผ่นฟิล์มอมระงับกลิ่นปาก โดยมีส่วนผสมของสารสกัดพริกจากองค์การเภสัชกรรมและส่วนประกอบพื้นฐานของฟิล์ม ผสมกับสารที่ให้ความเหนียวและยืดหยุ่น สามารถนำไปใช้อมซึ่งสะดวกต่อการพกพาและเหมาะสำหรับผู้บริโภคโดยมีฤทธิ์กระตุ้นในทันทีที่อม และมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ขนมเจลาตินชนิดใช้เคี้ยวอม ได้อีกด้วย นอกจากนั้นงานวิจัยนี้ยังจึงสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไปด้วย

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-biology/item/1339-pepper

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C
Hits 385 ครั้ง