พืชก็เครียดเป็น

วันที่เผยแพร่: 
Mon 27 June 2022

   ความเครียดเป็นสภาวะของอารมณ์ที่เกิดความไม่สบายใจ วิตกกังวล รู้สึกกดดันหลายครั้งที่หลายคนเรามักจะเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะคนเรามักจะแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดไม่เหมือนกัน แล้วเมื่อเกิดความเครียดเราจะแสดงออกมาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และพฤติกรรม และรู้หรือไม่ว่า ความเครียดแบบนี้ ก็จะเกิดขึ้นได้กับสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งอย่าง พืช   ได้เช่นกัน วันนี่ทาง STKC จะพาไปรู้จักความเครียดของพืช คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร และพืชมีการตอบสนองอย่างไร 
   สิ่งที่ทำให้พืชเกิดความเครียดมีอยู่ มีทั้งปัจจัยภายในคือพันธุกรรม และปัจจัยภายนอก คือ ดิน อากาศ อุณหภูมิ แร่ธาตุ รวมไปถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศเดียวกันกับพืชชนิดนั้น  โดยทุกปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดในพืช ท้ายที่สุดจะชักนำให้เกิดอนุมูลอิสระในพืชเกิดเป็น oxidative stress ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เซลล์พืชเสียหาย และตายในที่สุด

สาเหตุของความเครียดของพืช
 1.ความเครียดจากความเค็ม (salinity stress) จะแสดงอาการใบเหลือง เกิดการตายของแผ่นใบ ส่งผลให้การสังเคราะห์ด้วยแสงลดลง และทำให้การเติบโตลดลง โดยเมื่อรับความเค็มรุนแรงขึ้น จะมีการแสดงอาการผิดปกติมากขึ้น
2.สภาวะเครียดจากการขาดน้ำ (Drought) ใบจะเหี่ยว ซึ่งพืชสามารถกลับมาเจริญเติบโตได้ตามปกติได้ หากความเครียดนั้นหายไป เช่น เมื่อพืชขาดน้ำ 2 วัน มีอาการใบเหี่ยว หากได้รับน้ำในวันที่ 3 อาการเหี่ยวจะหายไป แต่หากพืชขาดน้ำ 1 สัปดาห์ แม้จะได้รับน้ำเพียงใด อาการเหี่ยวก็ไม่หายไป 
3.ความเครียดจากการมีน้ำท่วมขังบริเวณรากเป็นเวลานาน ๆ (Water-logging) จะทำให้รากพืชขาดออกซิเจน เมื่อพืชไม่สามารถดึงสารอาหารจากดินมาใช้ได้ก็จะเกิดอาการเหี่ยว รากเน่าและตายได้

การรับมือกับความเครียดในแบบของพืช
จากรูปแบบการตอบสนองต่อความเครียดของพืชเราจะจำแนกพืชออกเป็นสองชนิด ได้แก่ กลุ่ม Susceptibility คือพืชที่ไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อได้รับความเครียด (ซึ่งมักจะตายไปในที่สุด) และกลุ่ม Adaptation คือพืชที่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้เมื่อเกิดภาวะเครียด โดยการปรับตัวนี้จะมีสองรูปแบบที่สำคัญ ได้แก่ การหลบหนี (Escape) และการต้านทาน (Resistance)

1.  การหลบหนี (Escape) การหลบหนีของพืชไม่ใช่การวิ่งหนีแต่อย่างใด เพราะพืชไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ แต่พืชจะปรับวัฏจักรชีวิต (Life cycle) ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเจอสภาวะเครียดให้น้อยที่สุด เช่น พืชที่มีหัวใต้ดินบางชนิด เช่น เผือก มัน จะพักตัวอยู่ใต้ดินในฤดูแล้งในรูปของลำต้นสะสมอาหาร รวมไปถึงการพักตัวของเมล็ดพืชในฤดูแล้งเช่นกัน

2.  การต้านทาน (Resistance) เป็นการปรับตัวที่ทำให้พืชมีชีวิตรอดแม้ต้องอยู่ในสภาวะเครียด มีสองรูปแบบ คือ

2.1  การหลบหลีก (Avoidance) มักเป็นการปรับรูปลักษณ์ภายนอก (Morphological adaptation) เพื่อให้สภาวะเครียดมีผลต่อพืชน้อยที่สุด เช่น  พืชที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในสภาวะแห้งแล้งต้องปรับตัวเพื่อลดการสูญเสียน้ำ เช่น การเก็บสะสมน้ำในใบและลำต้นของพืชอวบน้ำ การเปลี่ยนใบเป็นหนามของกระบองเพชรเพื่อลดการสูญเสียน้ำ เป็นต้น

2.2  การอดทน (Tolerance) การปรับเปลี่ยนกลไกในการดำรงชีวิตหรือการปรับตัวด้านสรีรวิทยา (Physiological adaptation) ที่ทำให้พืชดำรงชีวิตในสภาวะเครียดได้ดียิ่งขึ้น เช่น การสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) หรือจะเป็นกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงแบบ CAM (Crassulacean acid metabolism) ของพืชวงศ์? Crassulaceae หรือกุหลาบหินเป็นพืชที่อยูในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง จึงปิดปากใบในตอนกลางวันและเปิดปากใบในตอนกลางคืนที่อุณหภูมิเย็นกว่าเพื่อลดการคายน้ำ  

เรียบเรียง : ณภัทร โพธิ์อยู่
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ(พร.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
Facebook : @stkcsociety                          
Youtube chanel : STKC Society Official

แหล่งที่มา
https://www.scimath.org/article-biology/item/7832-2018-01-11-01-27-09

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99
Hits 749 ครั้ง