ระวังฝนในฤดูร้อน

วันที่เผยแพร่: 
Thu 12 May 2022

เป็นอีกหนึ่งช่วงที่หลายจังหวัดทั่วประเทศไทยต้องรับมือกับฝน และคาดว่าจะตกหนักอีกอย่างน้อย ถึงวันที่ 2 พ.ค. แต่เอ๊ะ ! นี่มันยังไม่ทันเข้าหน้าฝนเลยนะครับ บวกกับตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยก็เกิดฝนตกบ่อยครั้งทั้งๆ ที่ก็ยังอยู่ในฤดูร้อน สถานการณ์แบบนี้ใครต่อหลายคนอาจสงสัยว่าปีนี้ฝนมาเร็ว มาเยอะกว่าปกติหรือเปล่า แต่ไม่ต้องห่วงนะครับ เพราะข้อมูลที่แอดมินจะนำเสนอในครั้งนี้อาจช่วยคลายข้อสงสัยได้ไม่มากก็น้อย

   จากสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องยอมรับครับว่าในช่วงเวลานี้และที่ผ่านมา ความแปรปรวนของสภาพอากาศบ้านเรามีให้เห็นอยู่บ่อยๆ จนเกิดเป็นคำถามว่า “หน้าร้อนทำไมฝนตก ?” วันนี้แอดมินจึงได้สอบถามไปยัง ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศของ GISTDA ให้ช่วยอธิบายถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า “จากการนำข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากดาวเทียมและสถานีตรวจวัดมาวิเคราะห์เพื่อแสดงถึงปริมาณน้ำฝนย้อนหลัง 40 ปี จะพบว่าประเทศไทยมีฝนตกเป็นปกติอยู่แล้วในช่วงเดือนเมษายน แต่ลักษณะหรือความถี่ในการเกิดฝนนั้นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละปี”

   โดยฝนจะตกหนักเบามักเกิดสลับกันเป็นรอบๆ อาจทุก 3 - 4 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะฝนจะตกน้อยหรือมากส่วนหนึ่งคือเกิดจากอิทธิพลของ เอลนีโญ (El Niño) และ ลานีญา (La Niña) ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดในลักษณะเป็นวัฏจักรสลับไปมา ประกอบกับในปีนี้เรากำลังอยู่ในสภาวะของลานีญาอยู่พอดี ฝนจึงมาเร็วและมาเยอะกว่าปกติ สังเกตได้จากหลายเดือนที่ผ่านมาถึงแม้จะอยู่ในฤดูร้อน แต่ยังพบฝนตกอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ค่อนข้างมีอิทธิพลกับปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยพอสมควร

   ส่วนปัจจัยอื่นรองลงมาเป็นเรื่องของสภาพอากาศ เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็นปกติโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอไปเจอกระแสลมที่พัดพาความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยซึ่งมีความเย็นมากกว่า จึงเกิดการปะทะกันระหว่างสองมวลอากาศ ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้หลายพื้นที่ทางตอนบนของประเทศไทยเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หรือมีลูกเห็บตกบ่อยครั้งดังที่ปรากฏเป็นข่าวที่ผ่านมา

   คำถามต่อไป แล้วปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่ ? แอดมินคงไม่สามารถตอบแบบฟันธงได้เช่นกัน เพราะว่าการที่น้ำจะท่วมได้นั้นเกิดจากหลายปัจจัย เริ่มกันที่ปัจจัยทางธรรมชาติโดยเฉพาะปรากฎการณ์ลานีญาอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างบน รวมไปถึงจำนวนพายุที่ต้องเผชิญ เพราะหากต้องเจอกับพายุหลายลูกพร้อมกันในคราวเดียวคงกลายเป็นโจทย์ที่ยากจะรับมือ

   อีกหนึ่งปัจจัยทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถการกักเก็บน้ำของพื้นที่ป่าต้นน้ำ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ทำเกษตรมาเป็นพื้นที่เมือง การเพิ่มขึ้นของตะกอนภายในเขื่อนทำให้ปริมาตรในการกักเก็บน้ำลดน้อยลง หรือลักษณะทางภูมิประเทศของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้วก็มักจะยังคงท่วมต่อเนื่องสม่ำเสมอ และยังรวมไปถึงรอบของการเกิดซ้ำ (Return period) ที่อาจช่วยคาดการณ์ได้คร่าวๆ ว่าจะเกิดเหตุการณ์หรือไม่

   กล่าวคือ ปริมาณฝนที่ระดับต่างๆ มีโอกาสจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลากี่ปี ตัวอย่างเช่น จ. เชียงราย ปริมาณฝนที่ระดับ 160 มม. ในเดือนเมษายน จะมีโอกาสเกิดซ้ำอีกในช่วงระยะเวลา 10 ปี ซึ่งจากข้อมูลดาวเทียมระบบ CHIRPS ย้อนหลัง 40 ปี พบว่าปกติแล้วในพื้นที่ภาคเหนือจะมีค่าปริมาณฝนเฉลี่ยในเดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 90 มม. ดังนั้นสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวางแผนเตรียมรับมือฝนต่อไป เช่น การจัดการระบายน้ำในเขตเมืองเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนจำนวนมากต่อไป เป็นต้น

   ปัจจุบันเรามีทั้งข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้ช่วยตอบคำถามให้เราได้ไม่มากก็น้อย เหนือไปกว่านั้นยังสามารถที่จะช่วยติดตาม ประเมิน ไปจนถึงการทำนายสถานการณ์ต่างๆ ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถที่จะป้องกันภัยธรรมชาติได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้สามารถตั้งรับหรือลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ ช่วยวางแผนจัดการได้อย่างทันท่วงที

แหล่งที่มา
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=5871&lang=TH

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%9D%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99
Hits 280 ครั้ง