วัคซีนต้านโรค COVID-19 ความหวังมนุษย์

วันที่เผยแพร่: 
Thu 29 February 2024

   จากปลายปี ค.ศ. 2019 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ได้เกิดการระบาดของ Coronavirus Disease 2019 หรือโรค COVID-19 อย่างต่อเนื่อง การระบาดของโรคนี้เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ที่ชื่อว่า Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2 (SARS-CoV-2) ทำให้ขณะนี้ (เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2564) ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 160 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่า 3 ล้านคน วัคซีนจึงกลายเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติที่จะหยุดยั้งโรคติดต่อร้ายแรงนี้ได้

ประเภทของวัคซีนโรค COVID-19

องค์การอนามัยโลก (WHO, 2020) เปิดเผยว่า มีวัคซีนหลายชนิดที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ โดยปกติแล้วการพัฒนาวัคซีนส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี แต่ด้วยความเร่งด่วนและการระบาดรุนแรงของโรคนี้ ทำให้วัคซีนที่ใช้สำหรับโรค COVID-19 ถูกพัฒนาเพียงแค่ 1-2 ปี (Lurie, et al, 2020) แต่ผลของการฉีดวัคซีนในระหว่างปี ค.ศ. 2020-2021 ทำให้สามารถลดความรุนแรงของอาการป่วยและการเสียชีวิตได้ (Lee, et al., 2020) เรามาทำความรู้จักวัคซีนและเรียนรู้กลไกการตอบสนองต่อวัคซีนจากข้อมูลที่มีอยู่ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564

   จากข้อมูลทำให้ทราบว่า วัคซีนโรค COVID -19 ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาวัคซีนแบ่งออกเป็น 6 ประเภท แต่มีหลักการเดียวกันคือ เป็นการนำไวรัสที่ตายหรืออ่อนฤทธิ์ ตัดแต่งพันธุกรรมหรือสารพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายคน เพื่อกระตุ้นกลไกในร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี) ที่จำเพาะขึ้นมา หากร่างกายได้รับเชื้อ SARS-COV-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะมีกลไกจดจำเชื้อนี้ ทำให้สามารถต่อต้านเชื้อโรคชนิดนี้ได้อย่างทันท่วงที การที่ต้องพัฒนาวัคซีนหลาย ๆ ประเภท เนื่องจากวัคซีนแต่ละประเภทให้ประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน วัคซีนแต่ละประเภทใช้แอนติเจนต่างกัน จึงมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้แตกต่างกัน

ตาราง 1 แสดงตัวอย่างวัคซีนโรค COVID-19 ที่พัฒนาด้วยเทคนโลยีในการพัฒนาวัคซีนในแต่ละประเภท

ตาราง 1 แสดงตัวอย่างวัคซีนโรค COVID-19 ที่พัฒนาด้วยเทคนโลยีในการพัฒนาวัคนในแต่ละประเภท

ผลข้างเคียงเมื่อได้รับวัคซีน

   หลังจากได้รับวัคซีนแล้ว มีรายงานว่าผู้รับวัคซีนอาจมีไข้ ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน อาจมีอาการได้ใน 1-2 วันหลังรับวัคซีน แต่ในบางรายอาจพบปัญหาภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) และภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตันจากการฉีดวัคซีน (Vaccine-Induced Prothrombotic Immune Thrombocytopenia, VIPIT) ในรายงานการฉีดวัคซีนของ Astra/Zeneca หรือ Johnson & Johnson แต่โอกาสในการเกิดนั้นต่ำเพียง 1 ใน 100,000 ถึง 1 ใน 500,000 คน (Pai, et al., 2021) ซึ่งสามารถให้การรักษาด้วยยาที่มีอยู่ได้ หรือการแพ้รุนแรงที่ทำให้ความดันเลือดตกหรือหลอดลมอุดกั้นเฉียบพลัน ซึ่งมีโอกาสต่ำเพียง 1 ใน 100,000 ถึง 1 ใน 500,000 คน

   ดังนั้น การฉีดวัคซีนอาจมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์บ้าง แต่โอกาสเกิดได้น้อยมาก และอันตรายน้อยกว่าการได้รับเชื้อโรค COVID -19 และยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากำจัดเชื้อนี้ได้

   การได้รับวัคซีนยังสามารถลดอาการของโรค ลดอาการรุนแรงได้ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นกับประเภทวัคซีน และลดการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้วัคซีนกับโรคอื่น ๆ ว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ซึ่งสามารถป้องกันการแพร่กระจายโรคภายในชุมชนหรือประเทศได้อีกด้วย แต่การกระตุ้นภูมิคุ้มกันหมู่สามารถเกิดขึ้นได้กับโรค COVID-19 หรือไม่นั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง อย่างไรก็ตามทั่วทั้งโลกยังหวังว่า หากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนจะสามารถหยุดการแพร่กระจายของโรค COVID-19 นี้ได้ในที่สุด

ภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)

   เมื่อประชากรในสังคมได้รับการฉีดวัคซีนสูงมากพอ ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อการติดโรค เมื่อจำนวนคนที่มีโอกาสติดเชื้อน้อยลง จึงทำให้หยุดการแพร่ระบาดของโรคได้ การป้องกันแบบนี้เรียกว่า "ภูมิคุ้มกันหมู่" ปัจจัยที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เกิดจาก

   1. ประชากรในสังคมเป็นโรคและร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้

   2. ประชากรในสังคมจำนวนมากเพียงพอที่ได้รับการฉีดวัคซีน และเป็นวัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้อยู่ได้นาน

   3. เป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คนเท่านั้น

   ประเด็นสำคัญที่ผู้อ่านทุกท่านต้องไม่ลืมคือ แม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ร่างกายยังสามารถติดเชื้อได้ เพียงแต่อาการอาจไม่รุนแรง ดังนั้น ทุก ๆ คนต้องไม่ประมาท ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ เว้นระยะห่างทางสังคมและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในขณะที่ร่างกายยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่เต็มที่

แหล่งที่มา

https://www.scimath.org/article-science/item/12889-covid-19

 

เผยแพร่ : นายปฏิภาณ นามแก้ว
(เจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
instagram : stkcsociety

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84-covid-19-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C
เจ้าของข้อมูล: 
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
Hits 338 ครั้ง