หูของคนเรามีผลต่อการทรงตัวอย่างไร

วันที่เผยแพร่: 
Fri 2 July 2021

หลาย ๆ คนคงทราบและรู้จักกันดีอยู่แล้วว่า หู (Ear) เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าในการได้ยิน แต่จะรู้หรือไม่ว่า นอกจากการได้ยินแล้ว หูยังช่วยให้เราสามารถทรงตัว และเคลื่อนไหวทรงตัวได้อย่างปกติอีกด้วย ซึ่งหากเกิดความผิดปกติภายในหูก็อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้าน ๆ ว่าบ้านหมุนนั่นเอง ซึ่งเราจะมาดูกันว่าโครงสร้างของ “หู” ประกอบด้วยอะไรบ้าง และแต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร และส่งผลต่อการทรงตัวของเราอย่างไร

หู เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ในการได้ยิน และการทรงตัว ทำงานด้วยพลังงานกลและพลังงานไฟฟ้า (Mechanic and Electrical Impulse) ซึ่งจะส่งกระแสประสาทไปสู่สมองโดยตรง ทำให้การได้ยินและการทรงตัวเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เมื่อใดก็ตามที่มีอารการผิดปกติของหูข้างใดข้างหนึ่ง ก็จะส่งผลกระทบต่อการได้ยิน เช่น มีอาการหูอื้อ หูหนวก หรือไม่สามารถทรงตัวได้ เมื่อเคลื่อนไหวก็จะเกิดอาการโคลงเคลง บ้านหมุน จนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ดังนั้นหูจึงเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมากกับมนุษย์นั่นเอง

หู และการได้ยิน มีผลต่อการทรงตัวอย่างไร?

ถึงแม้ว่าในหูชั้นในจะมีอวัยวะที่ทำหน้าสำคัญในการรับรู้ตำแหน่งของศีรษะและร่างกาย ซึ่งมีผลและจำเป็นอย่างมากต่อระบบการทรงตัว แต่ระบบการได้ยินและระบบการทรงตัวนั้นทำงานแยกจากกัน ระบบการได้ยินซึ่งประกอบไปด้วยเยื่อแก้วหู (Tympanic membrane) และกระดูกขนาดเล็กทั้ง 3 ชิ้นได้แก่ ค้อน(Malleus) ทั่ง (Incus) โกลน (Stapes) จะวางตัวอยู่ในหูชั้นกลาง (Middle ear) ในขณะที่อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวจะวางตัวจะอยู่ในหูชั้นใน จึงจะสังเกตได้ว่าผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จะไม่ได้มีปัญหาด้านการทรงไปตัวด้วยนั่นเอง

การทรงตัว หรือภาวะสมดุลของการทรงตัว

การทรงตัว หรือภาวะสมดุลของการทรงตัว ซึ่งทำให้คนเราสามารถนั่ง นอน ยืน เดิน วิ่ง ปฏิบัติ กิจวัตรประจำวัน และปฏิบัติกิจกรรมนอกเหนือจากกิจวัตรประจำวัน เช่น การเล่นกีฬา ว่ายน้ำ ขับรถและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวได้อย่างปกตินั้น แต่ต้องอาศัยกลไกของการทรงตัวหลายๆอย่างทำงานประสานกันอย่างสมดุล ได้แก่ การรับรู้สภาวะแวดล้อมจากสายตา (vision) การรับรู้แรงถ่วงของร่างกาย ผ่านกล้ามเนื้อข้อต่อของร่างกาย แขน ขา และกระดูกสันหลัง (kinesthetic) และโดยเฉพาะการรับรู้การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของศีรษะผ่านทางประสาททรงตัวในหูชั้นในทั้ง 2 ข้าง (vestibular end-organ) โดยการทำงานของระบบรับรู้ทั้งสามนี้ จะต้องประสานกันอย่างสมดุล และส่งสัญญาณไปสู่ศูนย์รับและประมวลผลข้อมูลในสมองส่วนกลางนั่นเอง

การสูญเสียสมรรถภาพของการทรงตัวอย่างถาวรเป็นผลจากความผิดปกติของอะไรก็ตาม ที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบหมุน หรือการเสียสมดุลของการทรงตัวมีกลไกการควบคุมการทรงตัวมี 3 ประการ คือ สายตา (vision) แรงดึงและดัน และแรงสัมผัสของ ร่างกาย (kinesthetic และ proprioceptive sense) และระบบทรงตัวในหูชั้นในจะมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของลูกตาเป็นอัตโนมัติ (vestibulo-ocular reflex) ดังนั้น การตรวจวัดสมดุลของระบบทรงตัว จึงอาจตรวจระบบสัมพันธ์อันใดอันหนึ่งหรือหลายอันก็ได้

การสูญเสียสมรรถภาพถาวรของระบบทรงตัวสามารถเกิดขึ้นจากการมีความผิดปกติของระบบการทรงตัวในหูชั้นใน (labyrinthine) และเครือข่ายเชื่อมโยงของสมอง การสูญเสียสมรรถภาพปรากฏได้ โดยการเสียสมดุลของการทรงตัวแบ่งเป็น
- สูญเสียหน้าที่ทรงตัวของหูชั้นใน
- การแปรปรวนของหน้าที่ทรงตัวของหูชั้นใน

สรุปว่าที่กล่าวว่า หูมีความเกี่ยวข้องกับการทรงตัวนั่นก็เพราะว่าหูเป็นอวัยวะสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนเราสามารถทรงตัวอยู่ได้คือ เซมิเซอร์คิวลาร์ คาแนล (semicircular canal) ในหู ซึ่งภายในมีของเหลวที่ไวต่อการกระตุ้น ของเหลวนี้จะทำหน้าที่ในการรับรู้สมดุล หากเราหมุนไปรอบๆ ตัวเร็วๆ หลายๆ ครั้ง จะทำให้อวัยวะนี้เกิดความสับสน เราจึงรู้สึกเวียนศีรษะ ดังนั้น เวลาที่มีคนเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จึงมักเห็นว่าคนเหล่านั้นมักมีอาการเดินเซ ทรงตัวไม่อยู่ให้เห็นบ่อยๆ นั่นเอง

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-science/item/11347-2020-03-06-08-37-55

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AB%E0%B8%B9%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3
Hits 1,284 ครั้ง