เทคนิคการใช้จ่ายเงินให้เลิศ แบบมนุษย์เงินเดือน (น้อย)

วันที่เผยแพร่: 
Tue 10 May 2022

   สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้พนักงานที่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงทางเดียว ต้องระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากสินค้าที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ปรับราคาสูงขึ้น แต่รายรับยังเท่าเดิม ประกอบทั้งสภาวะเงินเฟ้อ' และ เงินฝืด ในแต่ละช่วงของภาวะเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อมูลค่าของเงิน ทำให้มนุษย์เงินเดือนต้องหาวิธีใช้จ่ายเงินเดือนให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด และต้องเฝ้าคอยจนกว่าจะถึงสิ้นปีซึ่งจะมีการปรับเงินเดือนและรับเงินโบนัสพิเศษเพิ่มเติมคืออาจจะได้มาก ได้น้อย หรือไม่ได้เลย ก็ขึ้นกับผลการประเมินงาน ที่พนักงานแต่ละคนได้ทุ่มเท อุทิศกายและใจให้แก่องค์กร และกำไรจากผลประกอบการที่องค์กรจะจัดสรรให้แก่พนักงานที่สร้างผลงานให้โดนใจผู้ประเมินนั้น เป็นความสามารถของแต่ละบุคคลในการสร้างสรรค์ผลงาน อันจะนำไปสู่การปรับขึ้นเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้น นั่นหมายถึงการมีรายรับเพิ่มขึ้นจนสามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยกับสิ่งที่ต้องการ แต่ละคนคงมีวิธีการจัดการกับเงินเดือนของตนที่ได้ รับมาในแต่ละเดือนอยู่แล้วมนุษย์เงินเดือน (น้อย) ถ้าอยากได้หรืออยากมีในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งมีราคาแพงก็คงต้องใช้เทคนิคการเก็บออมเงินและการบริหารจัดการเงินแบบวิธีพิเศษ โดยมี "วินัย" เป็นตัวช่วยอีกแรงหนึ่ง ผู้เขียนขออนุญาตแบ่งปันข้อมูลประสบการณ์บางส่วนที่เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำได้ถ้ามี "วินัย" ในตนเอง ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็เป็นเพียงเทคนิคส่วนตัวหากผู้อ่านเห็นว่ามีประโยชน์และสามารถทำได้จริงเห็นผลจริง ก็จะเป็นประโยชน์และจัดระเบียบการใช้จ่ายเงินเพื่อให้เกิดความมั่งคั่งต่อตัวผู้อ่านเอง หากทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นทุกข์ รู้สึกว่าไม่สะดวกสบาย ก็จงท่อง "วินัย" ไว้ให้ถี่และขึ้นใจ แต่ถ้าพยายามจนสุดความสามารถแล้ว ยังไม่สามารถทำได้ ก็คงต้องแล้วแต่ตัวใครตัวมัน มาดูว่ามีเทคนิคอะไรบ้างในการบริหารจัดการเงินแบบมนุษย์เงินเดือน (น้อย)

เมื่อถึงวันที่เงินเดือนออก เราต้องพยายามจัดสรรเงินให้เป็นหมวดหมูในการใช้จ่ายดังนี้เงินออม

            กันเงินไว้ส่วนหนึ่งตามที่เห็นว่าเหมาะสมอาจจะเป็น 10% ของเงินเดือน แล้วนำเงินจำนวนนั้นไปฝากบัญชีประจำที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปหรือจะนำไปเปิดบัญชีกองทุนรวม' สามารถขอรายละเอียดได้ที่ธนาคารแต่ละแห่ง ซึ่งจะมีหลากหลายแบบเพื่อให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล หรือที่ทำงานบางแห่งอาจมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ' เป็นสวัสดิการพนักงานเพื่อเป็นการออมเงินไว้ให้พนักงาน เวลาเกษียณจะได้มีเงินก้อนใช้

            "วินัย" สอนไว้ว่า เงินส่วนนี้ เก็บแล้วห้ามถอนออกมาใช้ ให้ฝ่ากยาว แต่หมั่นตรวจเช็คดูว่ามีจำนวนเท่าไหร่และวางแผนนำเงินไปลงทุนเพื่อต่อยอดจำนวนเงินให้เพิ่มมากขึ้น เช่น อาจจะลงทุนในหุ้น" หรือ กองทุนอสังหาริมทรัพย์เป็นต้น ทั้งนี้ เราต้องศึกษารายละเอียดของการลงทุนแต่ละประเภทให้เหมาะกับความเสี่ยงที่เรารับได้

เงินใช้จ่ายประจำ

            กันเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้จ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำรายเดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหารค่าพาหนะ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต

เงินฉุกเฉิน

            เก็บเงินบางส่วนไว้ใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน เช่นค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมบำรุงบ้าน-รถ ซึ่งหากเดือนไหนไม่ได้ใช้ก็สามารถโยกไปเป็นเงินออมได้

เงินอื่น ๆ

ค่าใช้จ่ายทางสังคม ค่าทำบุญงานศพ ค่าของขวัญงานแต่งงาน ค่าเสื้อผ้า เครื่องใช้ส่วนตัว เป็นต้น

            เพื่อให้มนุษย์เงินเดือน (น้อย) สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างราบรื่น เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และกำลังซื้ออยู่ในภาวะถดถอย ผู้เขียนขอเสนอเทคนิคและวิธีการลดค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าหลายคนอาจจะไม่คาดคิดว่า ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันในบางเรื่อง จะมีผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของมนุษย์เงินเดือน (น้อย) มากมาย ลองมาดูกันว่าเราจะสามารถลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มเงินในกระเป๋าได้อย่างไรบ้าง

1.ลดการซื้อสินค้าแบรนด์เนม 
2.ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ 
3.ลองเปรียบเทียบราคาสินค้าอุปโภค และบริโภคก่อนซื้อตรวจสอบจากเว็บไซต์ 
4.หักห้ามใจซื้อสินค้าที่ลดราคาในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ควรซื้อแค่พอดีใช้ เพราะปัจจุบันห้างร้านต่าง ๆ มักจัดรายการลดราคาบ่อย
5.วางแผนการเดินทางอย่างรอบคอบ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาและประหยัดค่าน้ำมัน
6.ทำอาหารเองที่บ้าน 
7.ลดการบริโภคชา กาแฟ น้ำอัดลม และน้ำหวานเครื่องดื่มทั้งหลายที่บั่นทอนทั้งเงินในกระเป๋าและสุขภาพ
8.การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีสุขภาพดีจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้และมีร่างกายแข็งแรง พร้อมจะสู้กับงานในวันต่อไปการออกกำลังกาย
9.เลือกใช้แพ็คเกจค่าโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ตรายเดือนในราคาที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน 
10.หาวิธีสร้างรายได้เพิ่ม โดยนำความรู้ความชำนาญที่มีไปสร้างรายได้ 

            ยังมีอีกหลากหลายวิธีการในการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ หากผู้อ่านสามารถลดค่าใช้จ่ายในบางข้อได้ก็จะทำให้มีเงินเหลือเพิ่มมากขึ้น และควรหาวิธีเพิ่มเงินที่มีให้งอกงยด้วยช่องทางต่าง ๆ เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากประจำดอกเบี้ยพิเศษแบบไม่ต้องเสียภาษี การลงทุนในกองทุนรวมการลงทุนในหุ้น หรือการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์เป็นต้น ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่มากก็สามารถซื้อได้ ทุกคนคงมีแนวทางในการบริหารจัดการเงินทองของตนเองอยู่แล้วเพียงแต่หาวิธีที่ที่เหมาะกับตนเองและสามารถรับความเสี่ยงได้ทั้งนี้ ควรประเมินความเสี่ยงในการลงทุนแบบต่าง ๆ สำหรับตัวเราเองด้วย อย่างไรก็ตาม "สติ" และ "วินัย" คือตัวช่วยในการกำกับการใช้จ่ายเงิน หวังว่าผู้อ่านที่เป็นมนุษย์เงินเดือน(น้อย) จะได้เกร็ดความรู้การใช้จ่ายเงินไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

 

แหล่งที่มา
https://www.scimath.org/article-mathematics/item/12579-2022-02-15-07-00-...

 

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A8-%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2
Hits 242 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: