เล่นสนุก ผลลัพธ์มากกว่าความสนุก

วันที่เผยแพร่: 
Thu 1 April 2021

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ต่างให้การยอมรับว่า การเล่นอย่างสนุกสนานเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็กในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ร่างกาย สติปัญญา

สังคมและอารมณ์ รวมถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เมื่อเด็ก ๆ เล่นอย่างสนุกสนานพร้อมกับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยทำให้พวกเขามีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น

ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นสนุกกับการเรียนรู้และความจำของเด็ก ยังเผชิญกับข้อจำกัดในเรื่องจริยธรรมวิจัย นักวิทยาศาสตร์จึงอาศัยการศึกษาเทียบเคียงกับการเล่นสนุกของสัตว์

และพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของสัตว์แทน เช่น Dewar (2017) ได้กล่าวถึงการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ เมื่อ ค.ศ. 1964 ทำการทดลองเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการจดจำและการเจริญเติบโต

ของเปลือกสมองสัมพันธ์กับการเล่นสนุกสนานของหนู พบว่า หนูที่ถูกเลี้ยงด้วยการขังเดี่ยวในสภาพแวดล้อมที่น่าเบื่อ หากเปรียบเทียบกับหนูที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยของเล่น

พบว่าหนูที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยของเล่นมีอัตราการเจริญเติบโตของเปลือกสมองเพิ่มมากกว่า และสามารถหาทางออกจากเขาวงกตได้เร็วกว่าหนูที่ถูกขังเดี่ยว

การเล่นสนุกจึงมีส่วนทำให้ระดับของ Brain-derived neurotrophic factor (BDNF) เพิ่มสูงขึ้น หรือกล่าวได้ว่า โปรตีนที่เป็นอาหารของเซลล์ประสาทสมอง มีส่วนช่วยกระตุ้นเซลล์ดังกล่าวให้

เกิดการแตกแขนง จึงเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทอย่างมากมาย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้และการจดจำ (Szwast, 2020) ฉะนั้น การเพิ่มขึ้นของ BDNF มีส่วนสำคัญใน

การกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การเรียนรู้เพิ่มสูงขึ้น

ในงานของ Pellegrini และ Holmes (2006) ยังชี้ด้วยว่าการเล่นสนุกสนานโดยไม่มีพ่อแม่กำหนดรูปแบบหรือแนวทางการเล่น จะทำให้เด็กมีพัฒนาการการเรียนรู้ดีกว่า เช่นเดียวกันกับการเล่น

สนุกสนานและออกกำลังในเวลาว่างส่งผลดีต่อการเรียนรู้ ลักษณะดังกล่าวแตกต่างจากการออกกำลังกายในชั่วโมงพลศึกษา การเล่นสนุกของเด็กในเวลาว่างประมาณ 10-20 นาทีมีส่วนส่งเสริม

พัฒนาการเรียนรู้ที่ดี แต่ถ้าหากปล่อยให้เด็กพักและเล่นนานกว่า 30 นาที อาจทำให้เด็ก ๆ หันกลับมาเรียนต่อได้ยากกว่า ดังนั้น การให้เด็กได้มีช่วงพักและเล่นสนุกบ้างระหว่างเวลาเรียนในระยะเวลา

ที่เหมาะสม จะช่วยกระตุ้นให้พวกเขาสนใจเรียนได้มากกว่าการเรียนเพียงอย่างเดียว

ในปัจจุบัน การเตรียมความพร้อมของบุตรหลานเพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง จึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองหลายคนให้ความสนใจ

การมุ่งเน้นความสามารถทางวิชาการนับตั้งแต่วัยเยาว์ กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ปกครองในวัฒนธรรมเอเชีย เพราะมองถึงอนาคตที่ดีของเด็ก ๆ ในทางกลับกัน ผู้ปกครองฝั่งตะวันตกกลับให้ความ

สำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัย การเล่นสนุกกับบุตรหลานจึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่กลับส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาความคิด และทักษะที่จำเป็นในด้านต่างๆ

ในงานของรมร แย้มประทุม (2559) ที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย อ้างถึงการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัยของนักวิชาการ Piaget (1962) ที่ได้เสนอว่า การเล่น

ของเด็กจะเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญาในแต่ล่วงวัย เด็กที่มีในสองขวบปีแรกใช้ประสาทสัมผัส และเรียนรู้ด้วยการทำซ้ำ เช่น กระโดดอยู่กับที่ การรับและปล่อยลูกบอล เรียกว่า

การเล่นแบบลงมือปฏิบัติ (Practice Play) สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 18 เดือนขึ้นไป จะเริ่มมีการเล่นสมมติ (Pretend Play) หรือสวมบทบาท (Socio-dramatic Play) หรือการเล่นแบบใช้

สัญลักษณ์แทน (Symbolic Play) เช่น การใช้ไม้กวาดเป็นกีตาร์ เชือกเป็นงู หรือการเล่นร่วมกับผู้อื่นและสวมบทบาทเป็นตัวละคร โดยมีกฎกติกาที่ผู้เล่นต้องปฏิบัติตาม หรือการเล่นโดยใช้

สัญลักษณ์แทนสิ่งของที่กำหนด เช่น ปรบมือสองครั้งเมื่อได้ยินชื่อสัตว์ที่บินได้จากคุณครู ซึ่งการเล่นแบบต่างๆเหล่านี้ ช่วยทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษา การเข้าใจผู้อื่น

และมีกระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และเกิดจินตนาการเนื่องจากการเล่นบทบาทสมมติ

จากนั้น เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป การเล่นเกมที่มีกฎกติกาเพิ่มมากขึ้น เช่น การใบ้คำ การทายปัญหา การเล่นซ่อนหา หรือการเล่นเกมที่มีข้อกำหนดที่ผู้เล่นทุกคนต้องปฏิบัติ ทำให้เด็กได้เรียนรู้

เข้าใจ และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ส่งผลต่อพัฒนาการการใช้เหตุผลในการเล่นมากขึ้น รวมถึงความสามารถในการควบคุมตนเองตามกติกาได้ดียิ่งขึ้น นอกจากการเล่นสนุกตามพัฒนาการตามช่วงวัยแล้ว

การสนับสนุนให้เด็กได้ทดลองหรือเล่นของเล่นประเภทการต่อชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีรูปทรงเป็นบล็อค ที่สามารถต่อกันได้หลากหลายรูปแบบ ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการแก้ปัญหาได้

หลากหลายวิธี เมื่อเปรียบเทียบกับการต่อรูปภาพที่มีผลลัพธ์เพียงทางเดียว เช่น การต่อภาพจิกซอร์

การเล่นสนุกสนานจึงแฝงไปด้วยคุณประโยชน์ที่ส่งเสริมการพัฒนาของเด็ก การปล่อยให้เด็ก ๆ เล่นอย่างสนุกสนานและเหมาะสมตามแต่ละช่วงวัย มีส่วนส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้ดียิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้ปกครองได้ใช้เวลาเล่นสนุกกับบุตรหลาน ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและให้ความอบอุ่นทางจิตใจให้กับเด็ก พวกเขาสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป

ที่มา https://www.nsm.or.th/other-service/1757-online-science/knowledge-invent...
ผู้เขียน วิลาสินี ไตรยราช

แหล่งอ้างอิง

Pellegrini, A. D., & Holmes, R. M. (2006). The role of recess in primary school. Play= learning: How play motivates and enhances children’s cognitive and social-emotional growth. Oxford, UK: Oxford.

Piaget, J. (1962). The relation of affectivity to intelligence in the mental development of the child. Bulletin of the Menninger clinic, 26(3), 129.

รมร แย้มประทุม (2559). บทความฟื้นฟูวิชาการความสำคัญของการเล่นต่อพัฒนาการในเด็ก. วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย. 6(3), น. 275-278.

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81-%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81
Hits 284 ครั้ง