ไมโครพลาสติก อันตรายที่มองไม่เห็น

วันที่เผยแพร่: 
Mon 3 July 2023

     3 ก.ค. ของทุกปี เป็น “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” กำหนดขึ้นโดยองค์กร Plastic Bag Free World ซึ่งก่อตั้งจากความร่วมมือขององค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมหลายแห่งทั่วโลก หวังกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบของการใช้ถุงพลาสติก วันนี้ทาง STKC ก็จะพาไปู็จักไมโครพลาสติกกันว่ามันอันตรายแค่ไหน

รู้จักไมโครพลาสติก
        ไมโครพลาสติก คือ พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรถึงขนาดที่ตามองไม่เห็น มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี เส้นตรงหรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอน

ประเภทของไมโครพลาสติก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ (Primary microplastic) ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ คือ พลาสติกที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาให้มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรเพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (Nurdle) เม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า เครื่องสำอางหรือยาสีฟัน ซึ่งมักเรียกกันว่า ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือเม็ดสครับ ไมโครพลาสติกประเภทนี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำและไหลลงสู่ทะเล

ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ (Secondary microplastic)ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ คือ พลาสติกที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของพลาสติกขนาดใหญ่จนกลายเป็นชิ้นส่วน (Fragment) เส้นใย (Fiber) หรือแผ่นฟิล์ม (Film) ของพลาสติกที่มีขนาดเล็กลง กระบวนการสลายตัวของพลาสติกขนาดใหญ่ให้กลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กนี้ สามารถเกิดได้ทั้งโดยกระบวนการย่อยสลายทางกล (Mechanical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางเคมี (Chemical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ (Biological degradation) และกระบวนการย่อยด้วยแสง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรังสีอัลตราไวโอเลต (UV degradation) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สารแต่งเติมในพลาสติกหลุดออก ส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกเกิดการแตกตัวจนมีขนาดเล็ก กลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแม่น้ำและทะเล

ผลกระทบต่อสุขภาพ
1. รบกวนฮอร์โมนในร่างกาย ไมโครพลาสติกมีสารที่เรียกว่า Bisphenol A (BPA) เป็นส่วนประกอบของพลาสติก BPA อาจเข้าไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ มีผลกระทบกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่คอยควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ BPA ยังอาจมีส่วนทำให้ฮอร์โมนเพศชายมีการเปลี่ยนแปลงได้ มีผลกระทบถึงการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย
2. เด็กมีพัฒนาการลดลง สาร BPA มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ทำให้ความจำและระบบประสาทลดลง
3. ขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด เนื่องจากหลายคนอาจรับไมโครพลาสติกเข้าไปมากกว่า 1 หมื่นชิ้นต่อปีจากการกินอาหารทะเลและดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ไมโครพลาสติกซึ่งมีขนาดเล็กเท่าแบคทีเรียอาจเข้าสู่กระแสเลือดและปิดกั้นทางเดินเลือดได้ในที่สุด
4.อาจเกิดโรคมะเร็ง หากไมโครพลาสติกฝังเข้ากับเนื้อเยื่อในร่างกาย อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เพราะไมโครพลาสติกอาจปล่อยพิษหรือโลหะหนักที่ติดจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เนื้อเยื่อ
5.เป็นตัวกลางนำสารพิษ ไมโครพลาสติกมีคุณสมบัติที่สามารถดูดซับหรืออุ้มน้ำได้ จึงสามารถเก็บเอาสารพิษบางประเภท เช่น สารพิษในยาฆ่าแมลง DDT ในน้ำ กล่าวคือเมื่อไมโครพลาสติกยิ่งอยู่ในทะเลนานก็จะยิ่งดูดซับความเป็นพิษเอาไว้ ส่วนสัตว์เล็กในทะเลที่กินไมโครพลาสติกเข้าไปก็จะรับสารพิษนั้นเอาไว้ด้วย เมื่อคนนำมากินก็จะได้รับสารพิษตกค้างจากสัตว์เหล่านั้นเช่นกัน
     อาจพูดได้ว่า ไมโครพลาสติกเป็นอันตรายเงียบ ที่เราต้องตระหนักและหาทางป้องกันโดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้มีการทิ้งขยะพลาสติกลงไปในทะเล โดยการลดการเกิดขยะพลาสติกเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ที่ตัวเรา เช่น ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิลใหม่อย่างถูกวิธี เป็นต้น

แหล่งที่มา
https://petromat.org/home/microplastics-human-health-impacts/
 

เผยแพร่ : ว่าที่ร้อยตรีณภัทร โพธิ์อยู่
(เจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
instagram : stkcsociety

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81-%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99
Hits 769 ครั้ง