วันอานันทมหิดล

วันที่: 
09 June

มื่อกล่าวถึงพระนามของ "รัชกาลที่ ๘” เชื่อว่าพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าต่างน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทรงมีพระเมตตาธิคุณให้พสกนิกรมีสุขภาพ พลานามัยที่แข็งแรง และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ ๘) ในความสำคัญตอนหนึ่งว่า

"…ทรงต้องการให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น ให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน…” จึงทำให้วงการแพทย์ในประเทศไทยตื่นตัว เนื่องจากขณะนั้นการศึกษาแพทย์ของประเทศไทยมีอยู่เพียงแห่งเดียว

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ทรงเป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ทรงมีพระพี่นางและพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระชนกชนนีอีก ๒ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพล อดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่ โรงเรียนมาแตร์เดอี จากนั้นศึกษาต่อที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ หลังจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรส และพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ ต่อมาย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนนูแวลเดอลา ซูวิสโรมองต์ หลังจากนั้นจึงเสด็จนิวัติพระนคร

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลในขณะนั้นมีมติเห็นชอบให้อัญเชิญ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล (พระยศขณะนั้น) ขึ้นครองราชย์สืบราชสันติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะนั้นพระชนมายุเพียง ­๘ พรรษา และยังทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงต้องทรงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้แก่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา และเจ้าพระยายมราช ทำการบริหารแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะหลังจากทรงงานไม่กี่ปี พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น ๑๒ ปี

ตลอดระยะเวลา ๑๒ ปี ที่ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการปกครอง พระองค์ทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนที่เกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง ด้านการศาสนา พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ด้านการศึกษา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ และอีกครั้งที่ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ ๒ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันอานันทมหิดลเป็นวันที่มีความสำคัญ กล่าวคือเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ ๘) โดยปวงชนชาวไทยได้ถือเอาวันที่ ๙ มิถุนายนของทุกปีเป็น "วันอานันทมหิดล" และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้น ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เพื่อเป็นการเผยแผ่พระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ ตลอดจนเป็นการเฉลิมพระเกียรติล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๘ และให้พสกนิกรได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระองค์สืบไป

ที่มา http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=567&filename=index