กินจิ้งหรีดช่วยเพิ่มจุลชีพในลำไส้-ลดการอักเสบทั่วร่างกาย

วันที่เผยแพร่: 
Thu 16 August 2018

จิ้งหรีดทอด

นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันชี้ว่า จิ้งหรีดคือหนึ่งในแมลงที่นับเป็นสุดยอดอาหารหรือซูเปอร์ฟูดส์ (Super foods) อย่างแท้จริง โดยผลการวิจัยล่าสุดพบว่าการกินจิ้งหรีดช่วยให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้เติบโตเพิ่มจำนวนขึ้น ลดการอักเสบในร่างกาย และไม่เป็นอันตรายแม้กินเข้าไปในปริมาณมาก

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ของสหรัฐฯ ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานดังกล่าวในวารสาร Scientific Reports โดยชี้ว่าจิ้งหรีดเป็นอาหารแนวใหม่ที่มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์มากกว่าที่เคยคาดกันเอาไว้ โดยนอกจากจะมีโปรตีนสูงและมีสารอาหารอื่น ๆ แล้ว ยังช่วยเสริมสร้างให้สุขภาพร่างกายโดยรวมแข็งแรงขึ้น

มีการทดลองนำร่องในกลุ่มจำกัดเพื่อทดสอบว่าเส้นใยอาหาร (ไฟเบอร์) จากจิ้งหรีด เช่นเส้นใยอาหารที่เรียกว่าไคติน (Chitin) จะมีประโยชน์ต่อจุลชีพในร่างกายมนุษย์เป็นพิเศษหรือไม่ เพราะไฟเบอร์จากแมลงนั้นแตกต่างกับของพืชผักผลไม้โดยทั่วไปมาก แม้จะเป็นอาหารของจุลชีพในลำไส้เหมือนกันก็ตาม

ปัจจุบันมีประชากรโลกถึงราว 2,000 ล้านคนที่บริโภคแมลงเป็นประจำImage copyrightGETTY IMAGES

คำบรรยายภาพปัจจุบันมีประชากรโลกถึงราว 2,000 ล้านคนที่บริโภคแมลงเป็นประจำ

ทีมผู้วิจัยให้ชายและหญิงสุขภาพดีอายุระหว่าง 18-48 ปี จำนวน 20 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งรับประทานอาหารเช้าตามปกติ แต่อีกกลุ่มจะได้รับจิ้งหรีดแห้งบดเป็นผง 25 กรัมผสมไปกับขนมและเครื่องดื่มด้วย แล้วให้ทั้งสองกลุ่มรับประทานอาหารแบบนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์

จากนั้นผู้วิจัยให้อาสาสมัครทั้งหมดงดรับประทานจิ้งหรีดอย่างสิ้นเชิงตลอด 2 สัปดาห์ถัดมา แล้วจึงสลับให้กลุ่มที่ไม่ได้กินจิ้งหรีดในตอนแรกเป็นฝ่ายได้รับประทานบ้างอีก 2 สัปดาห์ โดยมีการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือด อุจจาระ และคำตอบในแบบสอบถามเรื่องระบบทางเดินอาหารของอาสาสมัครในการทดลองทุกระยะ

ผลที่ได้พบว่า อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มมีเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญและส่งผลดีต่อสุขภาพของระบบทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น ส่วนโปรตีนในเลือดชื่อ TNF-alpha ซึ่งสัมพันธ์กับการอักเสบ การก่อมะเร็ง และภาวะซึมเศร้านั้นกลับลดลง และที่สำคัญพบว่าจำนวนของแบคทีเรียชนิดที่มีประโยชน์ในลำไส้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งการแพทย์สมัยใหม่ถือว่าจุลชีพเหล่านี้มีบทบาทส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพร่างกายโดยรวมอย่างยิ่ง

ปัจจุบันมีประชากรโลกถึงราว 2,000 ล้านคนที่บริโภคแมลงเป็นประจำ ส่วนผู้คนในโลกตะวันตกต่างให้ความสนใจรับประทานแมลงเป็นอาหารกันมากขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์ ทั้งยังอุดมไปด้วยไขมันชนิดดี วิตามิน และแร่ธาตุ มากกว่าหมูหรือเนื้อวัวซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณมากเกินไป

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%AA%E0%B9%89-%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2
เจ้าของข้อมูล: 
https://www.bbc.com/thai/features-45077662
Hits 784 ครั้ง