ทำไมฤดูหนาวจึงมาพร้อมกับฝุ่น

วันที่เผยแพร่: 
Tue 29 December 2020

ทำไมฤดูหนาวจึงมาพร้อมกับฝุ่น

ทราบหรือไม่ว่า ประเทศไทยเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่เกิดตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2562 ได้กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ฝุ่น PM2.5 เหล่านี้นอกจากจะลดความสามารถในการมองเห็นของเราแล้วยังทำลายสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงจนหลายคนเริ่มกลัว

PM2.5 หรือ Particulate Matters คืออนุภาคของฝุ่นละเอียด (Fine particulate matter) ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ด้วยขนาดอนุภาคที่เล็กนี้ทำให้ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ การสูดฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในร่างกายจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถผ่านเข้าสู่ถุงลมและปอด จนถึงกระแสเลือด แล้วแทรกซึมกระบวนการทำงานในอวัยวะต่าง ๆ เพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ และโรคหลอดเลือด ในปี พ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งปอด เพราะฝุ่นPM2.5 สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางพาสารอื่น ๆ เข้าสู่ปอด เช่น โลหะหนัก อย่าง ปรอท และแคดเมียม ฝุ่น PM2.5 มีแหล่งกำเนิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เช่น การเผาไหม้จากเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่สมบูรณ์ การเผาไหม้จากโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าที่ไม่มีกระบวนการกรองฝุ่น PM2.5 ก่อนออกสู่ชั้นบรรยากาศ การเผาเศษซากวัชพืชทางการเกษตร รวมถึงไฟป่า การเผาไหม้เหล่านี้ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ลอยขึ้นสูง และถูกกระแสลมพัดออกไป

ในช่วงปลายฤดูหนาวที่กำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ประเทศไทยจะได้รับความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือแผ่ลงมาปกคลุมไปทั่วพื้นที่ของประเทศ ทำให้รูปแบบการเคลื่อนตัวของชั้นบรรยากาศด้านบนเกิดการเปลี่ยนแปลง พื้นดินคายความร้อนออกมาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อุณหภูมิเหนือพื้นดินเย็นกว่าชั้นบรรยากาศด้านบน เนื่องจากมีการคายความร้อนของพื้นผิวโลก จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันขึ้น (Temperature inversion) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงข้ามกับเหตุการณ์ของอุณหภูมิปกติในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดลักษณะคล้ายเพดานห้องที่กักฝุ่นละอองหรือแก๊สมลพิษที่ก่อตัวในระดับพื้นผิวโลกไม่ให้ลอยขึ้น การไหลเวียนและถ่ายเทของอากาศไม่ดีหรือเรียกว่า “อากาศปิด” จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง หมอก และควัน ในบรรยากาศมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติ เมื่อดูจากปัจจัยแวดล้อมทั้งฤดูกาล ความกดอากาศ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและนอกประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าวงรอบคุณภาพอากาศของประเทศไทยมีโอกาสเกิดฝุ่นละออง PM2.5 ต่อเนื่องตลอดปี โดยมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นในช่วงต้นปี และลดต่ำลงในช่วงกลางปีที่เป็นฤดูฝน

NG info3

ภาพจำลองการเกิดความร้อนผกผันแบบปิด ที่ส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในประเทศไทย
เมื่อเดือนมกราคม 2562 อ้างอิง National Geographic Thailand

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าในภาวะที่เกิดมลพิษทางอากาศควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง แต่ในผู้ที่จำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยประเภท N95 ซึ่งหน้ากากชนิดนี้ต่างจากหน้ากากอนามัยที่ใช้กันทั่วไป เนื่องจากสามารถป้องกันฝุ่นขนาด 0.1 - 0.3 ไมครอน ได้ 95% และถ้าเป็นไปได้ ควรลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง พร้อมกับสังเกตตนเองอยู่ตลอดว่าหากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที

นางสาวทิพย์อัมพร เอี่ยมสอาด กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

ที่มาข้อมูล :
1. ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน [2019], แหล่งที่มา : https://stem.in.th/temperature-inversion / [27 พฤศจิกายน 2563]
2. ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ [2020], แหล่งที่มา : http://air4thai.pcd.go.th/webV2/aqi_info.php /
[1 ธันวาคม 2563]
3. Recognizing Temperature Inversions [2017], แหล่งที่มา : https://agriculture.mo.gov/plants/pdf/BASF_TechBulletin_TemperatureInver... / [26 พฤศจิกายน 2563]
4. ภัยในหน้าหนาวจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) [2014], แหล่งที่มา : file:///C:/Users/dell/Downloads/25502-Article%20Text-56180-1-10-20141212.pdf / [26 พฤศจิกายน 2563]
5. ความกดอากาศ, แหล่งที่มา : http://www.lesa.biz/earth/atmosphere/air-pressure /
[27 พฤศจิกายน 2563]

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99
เจ้าของข้อมูล: 
นางสาวทิพย์อัมพร เอี่ยมสอาด กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
Hits 310 ครั้ง