นักวิจัยคิดค้นวิธีตรวจมะเร็งแบบใหม่ให้ผลภายใน 10 นาที

วันที่เผยแพร่: 
Mon 24 December 2018

ทีมนักวิจัยในออสเตรเลียพัฒนาการตรวจมะเร็งที่ให้ผลภายใน 10 นาที
ผลการวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ไปไม่นานมานี้ในวารสาร Nature Communications ระบุว่า วิธีตรวจหาเซลล์มะเร็งวิธีใหม่นี้พัฒนาขึ้น หลังจากทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ค้นพบว่า เซลล์มะเร็งนั้นหากอยู่ในน้ำจะสร้างโครงสร้างของดีเอ็นเอที่มีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งแตกต่างไปจากปกติ และถือเป็นวิธีการตรวจหาเซลล์มะเร็งได้เเต่เนิ่นๆ

โดยตรวจได้ผลเร็วกว่าการตรวจมะเร็งทุกวิธีที่ใช้กันในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ Matt Trau กล่าวในการแถลงข่าวว่า การค้นพบว่าโมเลกุลของดีเอ็นเอในเซลล์มะเร็งเกาะติดกันในลักษณะที่แตกต่างไปจากโมเลกุลของดีเอ็นเอของเซลล์ที่ปกติดี โดยถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญมาก การตรวจไม่สร้างความเจ็บปวดเเก่ผู้ป่วยและใช้ตรวจมะเร็งได้ทุกประเภท

ศาสตราจารย์ Trau กล่าวว่า การค้นพบนี้ได้นำไปสู่การคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์ตรวจหาเซลล์มะเร็งที่ราคาไม่เเพงและพกพาได้ ซึ่งคาดว่าในที่สุดแล้วจะนำไปใช้เป็นอุปกรณ์วินิจฉัยมะเร็งที่ใช้ได้กับโทรศัพท์มือถือ

ด้าน Abu Sina สมาชิกของทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวว่า การค้นพบนี้อาจจะช่วยแปลงโฉมหน้าการตรวจคัดกรองมะเร็งในอนาคต

เขากล่าวว่า มะเร็งเป็นโรคที่มีความซับซ้อน เเละในปัจจุบัน มะเร็งทุกชนิดต้องใช้วิธีทดสอบและระบบคัดกรองที่แตกต่างกัน และเรายังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองแบบรวมๆ ที่ช่วยตรวจหามะเร็งได้ และทีมนักวิจัยต้องการให้วีธีตรวจมะเร็งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจเช็คร่างกายทั่วไป

ตลอดเวลาที่ผ่านมา บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้พยายามพัฒนาวิธีการตรวจมะเร็งที่สามารถตรวจพบโรคได้เเต่เนิ่นๆ เพราะการตรวจพบมะเร็งได้เเต่เนิ่นๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสที่การบำบัดประสบความสำเร็จ

การตรวจมะเร็งแบบใหม่ที่ได้ผลตรวจภายใน 10 นาทีนี้พัฒนาในออสเตรเลีย และยังจำเป็นต้องมีการทดลองใช้กับคนครั้งใหญ่เสียก่อน แต่ทีมนักวิจัยชี้ว่ามีสัญญาณทางบวกหลายอย่าง

ทีมนักวิจัยได้ทดลองตรวจหามะเร็งในตัวอย่างเนื้อเยื่อและเลือด 200 ตัวอย่าง เเละผลการตรวจมีความเเม่นยำถึงร้อยละ 90 โดยใช้ตรวจหามะเร็งทรวงอก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และคาดว่าน่าจะใช้ตรวจมะเร็งทุกประเภทได้

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า มะเร็งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในดีเอ็นเอของเซลล์ โดยมีลักษณะการก่อตัวของโมเลกุลที่เรียกว่า mythyl groups ซึ่งต่างไปจากเซลล์ที่แข็งแรงดี และวิธีตรวจเเบบใหม่นี้สามารถตรวจพบลักษณะการเกาะตัวที่ผิดเพี้ยนนี้เมื่อนำเซลล์ไปใส่ในตัวทำละลาย อาทิ น้ำ

นักวิจัยกล่าวว่า หากพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพ วิธีตรวจมะเร็งเเบบใหม่นี้จะมีประโยชน์มากในการตรวจมะเร็งตั้งเเต่เนิ่นๆ ในพื้นที่ชนบทห่างไกล เทคโนโลยีที่ช่วยในการอ่านผลการตรวจแบบอิเลคทรอนิคส์ก็พร้อมเเล้ว โดยเพียงเเค่ต่อเข้ากับโทรศัพท์มือถือก็ใช้ได้

นักวิจัยชี้ว่า ข้อดีของการตรวจมะเร็งวิธีนี้คือเป็นอุปกรณ์อย่างง่าย แทบไม่ต้องใช้ทรัพยากรใดๆ เลย นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังคาดว่าอาจนำไปใช้ตรวจเฝ้าระวังการหวนคืนของมะเร็งได้ด้วย แม้ยังไม่ได้ทดลองในเรื่องนี้ก็ตาม

ในขั้นต่อไป ทีมนักวิจัยออสเตรเลียจะทำการทดลองกับมนุษย์ เพื่อศึกษาว่าจะสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งได้ล่วงหน้ามากเเค่ไหน เเละการตรวจนี้สามารถนำไปใช้วัดประสิทธิภาพของการบำบัดมะเร็งได้หรือไม่

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังจะศึกษาด้วยว่ามีความเป็นไปได้มากแค่ไหนที่จะใช้สารคัดหลั่งจากร่างกายชนิดต่างๆ ในการตรวจหามะเร็งประเภทต่างๆ ตั้งเเต่ระยะเริ่มต้นจนถึงระยะลุกลาม

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99-10-%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5
Hits 291 ครั้ง