พิษโลกร้อนในอาหาร!

วันที่เผยแพร่: 
Fri 31 July 2020

ในปัจจุบันนี้หนึ่งในภัยธรรมชาติที่เราทุกคนต่างเริ่มตระหนักกันมากขึ้นคือ “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งทุกคนต่างทราบกันแล้วว่าภัยธรรมชาตินี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับตัวเรา ไม่เว้นแม้แต่อาหารที่เรารับประทาน

รู้หรือไม่? อาหารหลายชนิดที่เรารับประทานนั้นมีสารอาหารที่ลดลง และบางอย่างมีการสะสมสารพิษจนเป็นอันตรายโดยไม่รู้ตัว

ภาวะโลกร้อนเกิดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในชั้นบรรยากาศ และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์นี้ทำให้เกิดความผิดปกติในการสังเคราะห์แสงของพืช พืชนำคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงมากกว่าปกติ จึงทำให้มีการสะสมของปริมาณคาร์บอนมาก ต้นไม้จึงดึงสารอาหารที่อยู่ในดินขึ้นมาใช้ได้น้อยลง จึงมีปริมาณสารอาหารและวิตามินน้อยลง

บทความจากงานวิจัยในวารสาร Science Advances เมื่อค.ศ. 2018 นักวิทยาศาสตร์จากประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ระบุถึงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้น ทำให้พืชมีปริมาณสารอาหารน้อยลง ในการทดลอง มีการปลูกข้าวที่แตกต่างกัน 18 สายพันธุ์ และให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสร้างสภาพอากาศจำลองคล้ายภาวะโลกร้อน พบปริมาณสารอาหารและวิตามินในข้าวลดลงโดยเฉลี่ยดังนี้ โปรตีนร้อยละ 10 เหล็กร้อยละ 8 สังกะสีร้อยละ 5 วิตามิน B1 ร้อยละ 17 วิตามิน B2 ร้อยละ 16 วิตามิน B5 ร้อยละ 12 และวิตามิน B9 ร้อยละ 30 ที่ลดลงสูงที่สุด ภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงกับหญิงที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นวิตามินที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

ผลกระทบในอีกลักษณะ นั่นคือ การสะสมสารพิษในอาหาร เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่มีความสำคัญมากเป็นอันดับ 5 ของโลก (รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่ง) ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากประเทศไนจีเรีย) แต่ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมากที่สุดในโลก (ข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2560)

ในมันสำปะหลัง เกิดการสะสมของกรดไฮโดรไซยานิค (hydrocyanic acid: HCN) โดยพบมากที่เปลือกของหัว ใบ และยอดอ่อน โดยปกติแล้วสารนี้ละลายไปกับน้ำในการล้างและทำความสะอาด แต่เมื่อเกิดภาวะโลกร้อน พื้นที่หลายแห่งขาดแคลนน้ำ หรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูลกาล จึงทำให้การสะสมของกรดไฮโดรไซยานิคในมันสำปะหลัง เมื่อคนบริโภคมันสำปะหลังที่มีกรดสะสมต่อเนื่อง ก่อให้เกิดโรค Konzo ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาท ผู้ป่วยไม่สามารถงอขาได้ อาจเกิดภาวะอัมพาตแบบฉับพลัน

ข้อมูลจากงานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการค้นพบ ปัจจุบันนี้ยังพบหลักฐานอีกมากมายเกี่ยวับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์เราอย่างใกล้ชิด การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อน จึงมีความสำคัญ ก่อนที่ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะย้อนกลับมาทำร้ายเราอย่างทวีคูณ.

ผู้เขียน - สิรีพัชร โกยโภไคสวรรค์

ที่มาของแหล่งข้อมูล
-Zhu, C., Kobayashi, K., Loladze, I., Zhu, J., Jiang, Q., Xu, X., ... & Fukagawa, N. K. (2018). Carbon dioxide (CO2) levels this century will alter the protein, micronutrients, and vitamin content of rice grains with potential health consequences for the poorest rice-dependent countries. Science advances, 4(5), eaaq1012.
-VICE MEDIA LLC. Climate Change Will Turn These Common Foods Toxic [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา : https://www.vice.com/en_uk/article/gyzajx/the-housing-market-is-fuelling... [30 มีนาคม 2563]
-มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย. ก๊าซเรือนกระจกอาจทำให้สารอาหารในข้าวลดลง [ออนไลน์]. 2561, แหล่งที่มา : http://www.tei.or.th/th/highlight_detail.php?event_id=177 [30 มีนาคม 2563]
-ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. พิษไซยาไนด์: อันตรายจริงหรือ? [ออนไลน์]. ม.ป.ป., แหล่งที่มา : http://www3.rdi.ku.ac.th/exhibition/50/plant/03_plant/03_plant.html [30 มีนาคม 2563]
-สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. มันสำปะหลัง: การใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง [ออนไลน์]. 2015, แหล่งที่มา : https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=17866 [30 มีนาคม 2563]

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
-FLAGFROG Office. ภาวะโลกร้อนกำลังทำให้อาหารธรรมดา ๆ มีประโยชน์น้อยลงและกลายเป็น “พิษ” [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา : https://www.flagfrog.com/climate-change-toxic-food/ [30 มีนาคม 2563]
-Xinhuathai. งานวิจัยเผย ‘โลกร้อน’ เพิ่มภาวะเจ็บป่วยจากการขาดสารอาหาร [ออนไลน์]. 2019, แหล่งที่มา : https://bit.ly/2QShuiX [30 มีนาคม 2563]
-AMPRO Health. ประโยชน์ของกรดโฟลิก (โฟเลต หรือวิตามินบี 9) [ออนไลน์]. 2562, แหล่งที่มา : https://amprohealth.com/nutrition/folic-acid-vitamin-B9/ [30 มีนาคม 2563]
-Mgronline. ข่าวร้ายสำหรับคนกินข้าว “โลกร้อน” ทำสารอาหารลดน้อยลง [ออนไลน์]. 2561, แหล่งที่มา : https://mgronline.com/science/detail/9610000051677 [30 มีนาคม 2563]
-คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. ภาวะโลกร้อน…ซ่อนโรคร้าย [ออนไลน์]. 2556,แหล่งที่มา : https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=686 [30 มีนาคม 2563]
ธนาคารแห่งประเทศไทย. สถานการณ์มันสำปะหลังที่เปลี่ยนแปลงไป [ออนไลน์]. 2560, แหล่งที่มา : ---https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/NorthEastern/DocLib_Research/c... [30 มีนาคม 2563]

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3
Hits 503 ครั้ง