แฝดกึ่งเหมือน 'ที่ได้รับการพิสูจน์เป็นคู่ที่ 2 ของโลก'

วันที่เผยแพร่: 
Thu 7 March 2019

แพทย์ยืนยันสิ่งที่พวกเขาบอกว่าเป็นแฝด "กึ่งแท้" หรือ "กึ่งเหมือน" คู่ที่ 2 ของโลก

คู่แฝดเด็กชายและเด็กหญิง ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 4 ขวบ จากเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย มีความเหมือนกันในฝ่ายแม่ แต่ทั้งคู่มีดีเอ็นเอเหมือนกันเพียงบางส่วนเท่านั้นในฝ่ายพ่อ ดังนั้นในแง่ของพันธุกรรม ฝาแฝดคู่นี้จึงอยู่ระหว่างการเป็นแฝดแท้และแฝดต่างไข่

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ยากเป็นอย่างยิ่ง ตัวอ่อนที่เกิดขึ้นเช่นนี้มักจะไม่สามารถอยู่รอดได้

ศ. นิโคลัส ฟิสก์ ซึ่งเป็นผู้นำคณะที่ดูแลแม่และคู่แฝดนี้ที่โรงพยาบาลรอยัลบริสเบนแอนด์วีเมนส์ (Royal Brisbane and Women's Hospital) ในปี 2014 กล่าวว่า การค้นพบนี้เกิดขึ้นจากการสแกนการตั้งครรภ์เป็นประจำ

ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพิสูจน์แฝดกึ่งเหมือนได้ในช่วงที่ตั้งครรภ์อยู่

แพทย์ระบุว่า คุณแม่ซึ่งมีลูกเป็นครั้งแรกมีอายุ 28 ปีในขณะนั้น และเป็นการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ

ฝาแฝดคู่เดียวกันแต่กลับเกิดจากพ่อคนละคน เป็นไปได้อย่างไร
ผ่าตัดแยก “แฝดปรสิต” จากทารก หลังเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้
กรณีนี้ได้รับการเผยแพร่ไว้ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England of Journal of Medicine)

"การอัลตราซาวด์คุณแม่ในช่วง 6 สัปดาห์ พบว่า มีรกเพียงรกเดียว และพบตำแหน่งของถุงน้ำคร่ำที่บ่งชี้ว่าเธอกำลังตั้งครรภ์ลูกแฝด" ศ. ฟิสก์ กล่าว

"อย่างไรก็ตามการอัลตราซาวด์ในช่วง 14 สัปดาห์ พบว่า แฝดคู่นี้เป็นเพศชายและหญิง ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับแฝดแท้

เกิดขึ้นได้อย่างไร?

แฝดแท้ หรือแฝดร่วมไข่ เกิดขึ้นเมื่อไข่ 1 ใบ ปฏิสนธิกับอสุจิ 1 ตัว จากนั้นไข่ได้แบ่งตัวเป็น 2 ส่วน ทำให้กลายเป็นทารก 2 คน

แฝดเช่นนี้จะมีเพศเดียวกันและมียีนเหมือนกัน มีลักษณะภายนอกเหมือนกัน

ส่วนแฝดคล้าย หรือแฝดต่างไข่ เกิดขึ้นเมื่อไข่ 2 ใบปฏิสนธิกับอสุจิคนละตัว และพัฒนาเป็นตัวอ่อนเติบโตภายในครรภ์พร้อมกัน

แฝดเช่นนี้อาจจะมีเพศต่างกันได้ และไม่ได้ต่างอะไรไปจากการเป็นพี่น้องกันทั่วไป เพียงแต่เกิดพร้อมกันเท่านั้น

ในกรณีของแฝดกึ่งแท้ หรือกึ่งเหมือน คาดว่าเกิดจากไข่ 1 ใบได้ปฏิสนธิกับอสุจิ 2 ตัวภายในเวลาเดียวกัน จากนั้นไข่ได้แบ่งตัวเป็น 2 ส่วน

ถ้าไข่ 1 ใบปฏิสนธิกับอสุจิ 2 ตัว เท่ากับว่ามีโครโมโซม 3 ชุด แทนที่จะเป็น 2 ชุด โดย 1 ชุดมาจากแม่ และ 2 ชุดมาจากพ่อ

นักวิจัยระบุว่า โครโมโซม 3 ชุด "โดยทั่วไปแล้วไม่เหมาะสำหรับการมีชีวิตอยู่ และปกติแล้วตัวอ่อนจะไม่อยู่รอด"

ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อของฝาแฝดคู่นี้

ฝาแฝดเกิดจากอะไร?

แฝดต่างไข่พบได้ปกติในบางครอบครัว แฝดต่างไข่มักพบได้ในคุณแม่ที่มีอายุมาก เพราะมักจะตกไข่มากกว่า 1 ใบในการตกไข่ 1 รอบ

ส่วนแฝดไข่ใบเดียวกันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย

การรักษาการมีบุตรยากด้วยการทำเด็กหลอดแก้วช่วยเพิ่มโอกาสในการมีลูกแฝด เพราะอาจมีการฝังตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัว เข้าไปในมดลูก

สมาคมแทมบา หรือ Twins and Multiple Births Association (Tamba) ระบุว่า มีฝาแฝดเกิดขึ้นราว 12,000 คู่ในแต่ละปีในสหราชอาณาจักร

'กรณีพิเศษ'

แฝดกึ่งแท้ที่มีเอกสารยืนยันครั้งแรกเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อปี 2007

ศ. ฟิสก์ กล่าวว่า การวิเคราะห์ฐานข้อมูลฝาแฝดทั่วโลก เน้นย้ำให้เห็นว่าโอกาสที่จะเกิดแฝดกึ่งแท้นั้นยากมาก

เขาและเพื่อนร่วมงานได้สำรวจข้อมูลพันธุกรรมจากแฝดต่างไข่ 968 คู่ รวมทั้งผลการศึกษาระดับโลกอีกจำนวนมาก แต่ไม่พบว่า มีกรณีของแฝดกึ่งแท้คู่อื่นอยู่เลย

"เรารู้ว่านี่เป็นแฝดกึ่งแท้ที่เป็นกรณีพิเศษ" ศ. ฟิสก์ กล่าวเพิ่มเติม

"ขณะนี้แพทย์อาจจะเห็นว่ากรณีนี้เป็นแฝดร่วมไข่ แต่ความพิเศษของแฝดคู่นี้ก็คือ ไม่มีแฝดคู่อื่นที่ผ่านการทดสอบทางพันธุกรรมเป็นประจำมาก่อน"

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%81%E0%B8%9D%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-2-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81
Hits 419 ครั้ง